xs
xsm
sm
md
lg

กบง.เคาะอุ้มคนจนรับมือขึ้นแอลพีจีเพิ่มเป็น 9 ล้านราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กบง.” ปรับเกณฑ์ช่วยกลุ่มครัวเรือนลดผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาแอลพีจีในปี 2556 ใหม่ จากเดิมยึดฐานใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนเป็นไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน ทำให้ครัวเรือนที่จะได้รับการช่วยเพิ่มเป็น 8.33 ล้านราย ขณะที่ร้านค้า หาบเร่ 5 แสนราย

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 55 ว่า กบง.ได้เห็นชอบเกณฑ์ช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำและร้านค้าหาบเร่ แผงลอย เพื่อลดผลกระทบการปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ที่จะดำเนินการในปี 2556 โดยภาคครัวเรือนให้อิงฐานผู้ใช้ไฟฟ้าฟรีเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนเป็นไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน ซึ่งจะทำให้มีผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มจาก 3.6 ล้านรายเป็น 8.33 ล้านราย ส่วนกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารกำหนดการช่วยเหลือไว้ที่ 500,000 ราย แต่ให้คณะอนุกรรมการบรรเทาผลกระทบการขึ้นแอลพีจีที่มีปลัดกระทรวงพลังงานซึ่งได้แต่งตั้งแล้วล่าสุดไปจัดทำฐานข้อมูลให้ละเอียดอีกครั้ง

สำหรับฐานข้อมูลการอิงจากผู้ใช้ไฟฟรีเป็นไม่เกิน 90 หน่วยเนื่องจากคนเมืองที่อาศัยคอนโดฯ ใช้ไฟต่ำเพราะไม่ได้หุงหาอาหารหรือทำกิจกรรมมากนัก ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าเป็นคนจนอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกลับพบว่าผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัดกลับใช้ไฟเฉลี่ยเกิน 70 หน่วยต่อเดือนด้วยซ้ำเพราะอยู่กันหลายคน

“ที่ประชุมได้อนุมัติงบในการไปจ้างการสำรวจ 50 ล้านบาทและให้เวลาคณะทำงานไปรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนภายใน 60 วัน หลังจากนั้นเมื่อมีฐานข้อมูลครบและกำหนดมาตรการทั้งหมดแล้วเราจึงจะประกาศปรับราคาแอลพีจี จึงบอกไม่ได้ว่าจะเป็นเดือนไหนแน่ ส่วนการช่วยเหลือภาคครัวเรือนจะช่วย 6 กิโลกรัมต่อครัวเรือน และร้านค้าไม่เกิน 150 กก.ต่อเดือนเช่นเดิม ส่วนรูปแบบจะจ่ายเงินอย่างไรก็ต้องรอผลศึกษาก่อนด้วย” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คาดว่าการปรับราคาแอลพีจีของรัฐบาลจะมีผลช่วง ก.พ.-มี.ค. 56 โดยครัวเรือนจะปรับขึ้นอีก 6 บาทต่อ กก. จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกก.ไปอยู่ที่ 24.82 บาทต่อ กก. โดยจะใช้วิธีทยอยขึ้นเดือนละ 50 สต./กก. และขนส่งก็จะปรับขึ้นไปอยู่ในอัตราเท่าครัวเรือน คาดว่าการดูแลภาคครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ สนับสนุนเฉลี่ย 5,942 ล้านบาทต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น