เปิดแผนปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีใหม่ เตรียมขยับราคาสะท้อนตลาดโลกเป็น 36 บาทต่อ กก.ทุกภาคส่วน ส่งผลให้ขนส่งจะขยับเดือนละ 1.20 บาท/กก. และอุตสาหกรรมเดือนละ 0.50 บ./กก. จนครบในเดือน ธ.ค. 56 ส่วนภาคครัวเรือนยึดราคาโรงแยกฯ ปรับขึ้นเดือนละ 0.50 บาทต่อ กก.จนครบใน ธ.ค. 57 พร้อมงัดมาตรการอุ้มผู้มีรายได้และร้านค้าขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รอสรุปรายละเอียดก่อนชง “เพ้ง” ประกาศ
แหล่งข่าวจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนพ.ได้มีการจัดทำข้อสรุปถึงแนวทางการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีสำหรับทุกภาคส่วนเรียบร้อยแล้ว โดยใช้ประมาณการราคาตลาดโลก (CP) ปี 2556-2557 เฉลี่ยที่ 900 เหรียญต่อตัน ทำให้ราคาแอลพีจีที่แท้จริงทุกส่วนจะต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 36 บาทต่อ กก. ทั้งนี้ก็เพื่อลดการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บรายได้หลักจากผู้ใช้น้ำมัน และทำให้ราคาใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการไหลออกโดยเฉพาะเมื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ปี 2558
สำหรับแนวทางการปรับภาคขนส่งจะขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1.20 บาทต่อ กก. และภาคอุตฯ ขึ้นเดือนละ 0.50 บาทต่อ กก. จนไปอยู่ที่ 36 บาทในเดือน ธ.ค. 56 ซึ่งขณะนี้แอลพีจีขนส่งอยู่ที่ 21.38 บาทต่อ กก. อุตสาหกรรมอยู่ที่ 30.13 บาทต่อ กก. ส่วนภาคครัวเรือนจะยึดราคาสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 550 เหรียญต่อตันหรือ 24.82 บาทต่อ กก. แต่มีเป้าหมายที่จะให้สะท้อนราคาตลาดโลกที่ 36 บาทต่อ กก.ใน ธ.ค. 2557 หรือใช้เวลาทยอยปรับแต่ละเดือนจนครบ 2 ปี หรือเฉลี่ยปรับขึ้นเดือนละประมาณ 0.50 บาทต่อ กก. จากขณะนี้ราคาอยู่ที่ 18.13 บาทต่อ กก.
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้รายงานแนวทางต่อนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงานคนใหม่ ซึ่งได้มอบหมายให้ไปทำความเข้าใจกับประชาชนและทำรายละเอียดและข้อมูลที่ชัดเจนถึงกลุ่มผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือเมื่อต้องปรับขึ้นแอลพีจีภาคครัวเรือน โดยเน้นผู้มีรายได้ต่ำกับร้านค้า หาบเร่ แผงลอย รวมถึงแนวทางการดำเนินงานว่าจะเป็นบัตรเครดิตหรือส่วนลดอย่างไรแน่ที่จะทำให้การช่วยเหลือถึงมือประชาชนจริงและเกิดประโยชน์สูงสุด
“คงจะต้องกลับมาทำข้อมูลเพิ่มเพราะที่มีอยู่ไม่ชัดเจน โดยขณะนี้ยึดจากฐานข้อมูลผู้มีรายได้ต่ำจากการใช้ไฟฟ้าและร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ร้านอาหารขนาดเล็กจากกระทรวงสาธารณสุข โดยข้อมูลใช้ไฟฟรีเขตเมืองรวมกับรายได้ครัวเรือนในชนบทพบว่าสูงสุดกลุ่มนี้จะมี 6 ล้านครัวเรือน ส่วนร้านหาบเร่ แผงลอยรวมจะมีประมาณ 2 แสนกว่าราย ทั้งหมดนี้คงจะต้องนำมาพิจารณาว่าจะช่วยอย่างไร” แหล่งข่าวกล่าว
นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าแอลพีจี กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการที่จะช่วยเหลือคนมีรายได้ต่ำ แต่ยอมรับว่าขั้นตอนไม่ง่ายควรจะเปิดให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ มาลงทะเบียน และหากรัฐจะทำเป็นบัตรส่วนลดยอมรับว่าร้านค้าก็จะต้องลงทุนไปทำเครื่องรูดบัตรอีก และประชาชนส่วนใหญ่ก็สั่งก๊าซฯ ไปส่งไม่ได้ซื้อตรง รัฐควรจะมีเวทีระดมความเห็นเรื่องนี้เพื่อให้การปฏิบัติออกมาได้ผลดีต่อทุกฝ่าย
นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า เห็นว่ามาตรการบัตรส่วนลดแอลพีจีถ้าจะทำเหมือนบัตรพลังงานเอ็นจีวีก็ทำได้เพราะระบบมีอยู่แล้ว หรืออีกแนวทางก็คือ อาจจะจ่ายเงินเข้าบัญชีเหมือนกับเบี้ยยังชีพคนชรา