บขส.เปิดเดินรถไปกัมพูชา 2 เส้นทาง เริ่มตั้งแต่ 29 ธ.ค.นี้ตามข้อตกลงและเพื่อรองรับเปิด AEC ที่จะมีความต้องการเดินทางและท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าปี 57 เปิดเดินรถไปยังเพื่อนบ้านครบทุกประเทศ มั่นใจสินค้าไทยจุดขายดึงดูดนักชอปเพื่อนบ้าน
วันนี้ (14 ธ.ค.) นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้ลงนามสัญญาเดินรถโดยสารระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา เส้นทางกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-เสียมราฐ และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-พนมเปญ กับบริษัท นัทธกันต์ (กัมพูชา) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศของกัมพูชา
นายวุฒิชาติกล่าวว่า จะเปิดเดินรถโดยสารประจำทาง 2 เส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2555 นี้ โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-เสียมราฐ ระยะทาง 424 กิโลเมตร อัตราค่าโดยสาร 750 บาท หรือ 25 ดอลลาร์สหรัฐ ใช้เวลาเดินทาง 7 ชั่วโมง จำนวน 2 เที่ยวต่อวัน และเส้นทางกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-พนมเปญ ระยะทาง 719 กิโลเมตร อัตราค่าโดยสาร 900 บาท หรือ 30 ดอลลาร์สหรัฐ ใช้เวลาเดินทาง 11 ชั่วโมง จำนวน 1 เที่ยวต่อวัน โดยทั้ง 2 เส้นทางเดินรถด้วยรถมาตรฐาน 1 ข
โดยจะเป็นเส้นทางที่ช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีประชาชนที่ต้องการเดินทางระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นจำนวนมาก และยังเป็นการเตรียมรองรับการเปิด AEC ในปี 2558 ด้วย โดยฝ่ายกัมพูชาจะเปิดเดินรถมายังไทยในจำนวนเที่ยวที่เท่ากัน ซึ่งการเดินรถดังกล่าวเป็นผลมาจากการประชุมทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจร ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ-ปอยเปตเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นายวุฒิชาติกล่าวว่า ในปี 2556 บขส.จะเปิดเส้นทางเดินรถไปยังกัมพูชาเพิ่มเติมอีก 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. เสียมราฐ-ศรีสะเกษ-อุบลราชานี 2. เสียมราฐ-พัทยา 3. พระตะบอง-จันทบุรี และ 4. สีหนุวิลล์-ตราด และในปี 2557 วางเป้าหมายจะเปิดเดินรถโดยสารประจำทางไปยังทุกประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยให้ครบทั้งหมด คือ มาเลเซีย และพม่า ในเส้นทางแม่สอด-เมียวดี เชียงราย-เชียงตุง และกรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง รวมถึงเวียดนาม ที่มีประชาชนที่ต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และซื้อสินค้าในไทยได้เป็นจำนวนมาก
“การเปิดเดินรถไปยังประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทยจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมากขึ้น เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านนิยมซื้อสินค้าไทย หากมีช่องทางในการเดินทางที่หลากหลายก็จะช่วยให้เกิดการเดินทางเพื่อเข้ามาซื้อสินค้าในไทยได้มากขึ้น ซึ่งมีราคาถูกกว่าการซื้อในประเทศของตนเองประมาณ 50%” นายวุฒิชาติกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในกรณีเปิดเดินรถไปเวียดนามจะต้องเจรจากับประเทศลาวเนื่องจากมีการวิ่งรถผ่านประเทศลาวไปยังเวียดนาม ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะการขยายเส้นทางต่อไปถึงเวียดนาม จากปัจจุบันที่ บขส.เดินรถไปลาวอยู่แล้ว โดยปัจจุบัน บขส.เปิดเดินรถประจำทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว คือลาว จำนวน 10 เส้นทาง ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวประมาณ 90% ยกเว้นเส้นทางนครราชสีมา-เวียงจันทน์ ที่มีผู้ใช้บริการน้อย จึงได้ขยายเส้นทางให้สิ้นสุดที่กรุงเทพฯ แทน