ASTVผู้จัดการรายวัน - สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ มั่นใจแผนแม่บทพลังงานของประเทศ 20 ปีเสร็จสมบูรณ์ ส.ค.-ก.ย. 56 ยื่น กพช.อนุมัติต่อไป ยันแผนแม่บทนี้อาศัยแผนพลังงานอื่นๆ เป็นฐานการพิจารณา และดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น
นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำแผนแม่บทพลังงานของประเทศ 20 ปี กล่าวสัมมนาภายใต้หัวข้อ “แผนแม่บทพลังงานไทย ระยะที่ 1 : ปัจจัยขับเคลื่อนและภาพอนาคตพลังงานในอีก 2 ปีข้างหน้า” ว่า แผนแม่บทพลังงานฯ นี้เป็นการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศให้มีทิศทางที่ชัดเจนเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาสังคม และแนวโน้มสถานการณ์พลังงานโลก รวมทั้งรองรับสถานการณ์ไม่ปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยการนำแผนพลังงานย่อยๆ เช่น แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน มาใช้เป็นฐานประกอบการพิจารณา คาดว่าจะแผนแม่บทพลังงานดังกล่าวจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ช่วง ส.ค.-ก.ย. 2556 หลังจากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะให้แผนแม่บทฯ นี้มีการใช้ในปี 2557 เป็นต้นไป
การจัดทำแผนแม่บทพลังงานฯ นี้ได้เชื่อมโยงระหว่างพลังงานกับเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การขนส่ง ฯลฯ เข้ามาประกอบการวางแผนฯ โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทฯ ตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีการจัดสัมมนารับฟังความคิดเป็นจากทุกภาคส่วนจากทั่วประเทศจำนวน 10 ครั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเน้นใน 2 ประเด็นเป้าหมายหลัก คือ ความมั่นคงทางพลังงาน สังคมต้องยอมรับและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลยังมีความจำเป็น แต่มีพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเสริม พร้อมทั้งกระจายการใช้เชื้อเพลิงอย่ากระจุกตัวแต่ก๊าซธรรมชาติ
สำหรับปัจจัยที่ขับเคลื่อนที่ส่งผลกระทบสูงต่อเป้าหมาย ได้แก่ ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต สถานการณ์ความไม่สงบในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ ดังนั้น ราคาพลังงานจะต้องสะท้อนต้นทุนความเป็นจริง
“การกำหนดแผนฯครั้งนี้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนมาตั้งแต่เริ่ม โดยไม่ใช่ร่างแผนแม่บทเสร็จแล้วขอความเห็นจากประชาชน แต่เป็นการขอความเห็นตั้งแต่ต้นเพื่อร่างแผนแม่บทฯ ว่าปัจจัยขับเคลื่อนที่ประชาชนเห็นว่าสำคัญมีอะไรบ้าง จากนั้นเรานำมาประกอบการทำแผนฯครั้งนี้ นับเป็นแผนฯที่ผ่านความคิดเห็นของภาคประชาชนมาตั้งแต่ต้น หลังจากนั้นจะนำข้อคิดเห็นเหล่านี้มาใช้ปรับปรุงผลการศึกษาและใช้เป็นข้อมูลต่อยอดการพัฒนาแผนแม่บทพลังงานในระยะที่ 2 คาดว่าจะใช้เวลาอีก 6 เดือน ก่อนที่จะเขียนแผนแม่บทฯ”
การจัดทำแผนแม่บทด้านพลังงานของประเทศ 20 ปี ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมมือกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ ศึกษาจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของการจัดทำแผนฯ ระยะที่ 1 ภายหลังจากรับฟังความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนจากทั่วประเทศมาแล้ว โดยจะนำเสนอผลการศึกษาที่ได้ในเบื้องต้นมาระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้างอีกครั้ง เพื่อพัฒนาเป็นภาพอนาคตพลังงานของประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า