xs
xsm
sm
md
lg

งบสื่อออนไลน์ทะลุ 3 พันล้าน สินค้าไทยส่งออกพุ่งรับเออีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด
เอเยนซีชี้ชัด สื่อออนไลน์โตวันโตคืน 20% จากปีที่แล้ว ทะลุ 3,000 ล้านบาท จากงบโฆษณาทั้งหมดที่มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท แนวโน้มปีหน้าตลาดสื่อออนไลน์จะคึกคักมากขึ้นจากเทรนด์ที่มาแรง

นางสาวอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจเอเยนซี เปิดเผยว่า ในปีนี้พบว่างบประมาณที่ใช้ในการทำกิจกรรมตลาดผ่านสื่อออนไลน์ของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 5-10% ของงบทำการตลาดทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนปีที่แล้วของงบออนไลน์มีเพียงแค่ 1% เท่านั้นเอง ซึ่งคาดว่าภายในปี 2556 การใช้งบโฆษณา และทำกิจกรรมตลาดผ่านสื่อออนไลน์จะมีมากขึ้น เพราะปัจจุบันคนไทยใช้สื่อออนไลน์สูงถึง 24 ล้านคน ใช้เฟซบุ๊ก 17.5 ล้านคน และใช้มือถือสมาร์ทโฟน 10.4 ล้านเครื่อง

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจโฆษณาในไทยปีนี้มีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยแยกที่มาจากการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์สัดส่วน 3% หรือประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี เติบโต 20% จากปีก่อน

ส่วนทิศทางการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ในปี 2556 มี 6 ด้าน คือ 1. ผู้ประกอบการจะทำการเปิดตัวแอปพลิเคชันสู่ตลาดมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าเร็วขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกมีแอปพลิเคชันรวม 700,000 แอปพลิเคชัน และผู้บริโภคมีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่อคนมากกว่า 100 แอปพลิเคชัน และในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมามียอดการดาวน์โหลดทั่วโลกรวม 2,500 ล้านแอปพลิเคชัน 2. ผู้ประกอบการเปิดตัว ร้านค้าออนไลน์ หรืออี-สโตร์ มากขึ้น เช่น เทสโก้ โลตัส และยูนิโคล่ มีอี-สโตร์ ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันที

3. การทำโปรโมชันผ่านมือถือจะมีเพิ่มมากขึ้น 4. แนวโน้มการต่อยอดโซเชียลมีเดียไปยังโซเชียลคอมเมิร์ซที่มีบล็อกเกอร์แนะนำสินค้าต่างๆ จำนวนมาก 5. การมีสมาร์ทโฟนที่ทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้สื่อโฆษณาผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น 6. การใช้ดิจิตอลเชื่อมต่อทุกช่องทางออนไลน์ ทั้งการเชื่อมโยงผ่านสื่อออนไลน์ผ่านหลายช่องทางมารวมกัน

“ในปีหน้าเทรนด์ดิจิตอลมาร์เกตติ้งจะเป็นตัวที่เปลี่ยนรูปแบบไปสู่อีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบ เป็นช่องทางขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค จากเดิมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะทำดิจิตอลมาร์เกตติ้งอย่างไม่จริงจังมากนัก และใช้การทำดิจิตอล มาร์เกตติ้งเป็นแค่ช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคเท่านั้น” นางสาวอุไรพรกล่าว

ทั้งนี้ การที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการของไทยที่จะมีโอกาสขยายธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น แต่ปัญหาที่สำคัญของไทยคือ การขาดแคลนบุคลากรที่จะพัฒนาระบบให้แก่ผู้ประกอบการ หากไม่เร่งสร้างบุคลากรใหม่ๆ เข้ามาในตลาดก็อาจจะส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสแข่งขันด้านตลาดออนไลน์ได้

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปีที่แล้วสูงถึง 6 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าการค้าออนไลน์ในปีก่อนอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ในปีนี้คาดว่าตลาดจะเติบโตต่อเนื่อง และหากไทยสามารถผลักดันการค้าออนไลน์เพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น 5% ก็สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มการส่งออกได้ 300,000 ล้านบาท ส่วนยอดการจดทะเบียนอีคอมเมิร์ซไทยในช่วงกลางปี 2555 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 9,993 เว็บไซต์ และมีบริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนรวม 30 ราย อันดับหนึ่งเป็นธุรกิจแฟชั่น รองลงมาคือสุขภาพ และเครื่องมืออุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น