จับตากระทรวงแรงงานดันขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศชง ครม. 20 พ.ย.นี้ หลังเครือข่ายผู้ใช้แรงงานขู่เคลื่อนไหวหากไม่เสนอ ขณะที่เอกชนรับสภาพปี 2556 เผาจริงเอสเอ็มอีกำไรหด ส่อเจ๊ง
นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.กระทรวงแรงงาน ได้รับปากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ 70 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งจะมีผล 1 ม.ค. 56 เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ซึ่งเครือข่ายแรงงานกำลังติดตามหากไม่เข้าจริงจะเคลื่อนไหวทันที เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่าการประชุม ครม.ได้เลื่อนเป็นวันที่ 12 พ.ย. 55
“การที่เอกชนระบุว่าจะขอเวลาศึกษามาตรการเยียวยาก่อนและให้ชะลอเข้า ครม.เป็นคนละเรื่อง เพราะเรื่องนี้เราก็เข้าใจถึงผลกระทบต่อธุรกิจ แต่เมื่อเป็นนโยบายรัฐก็ต้องไปดูแลเอสเอ็มอีด้วย และค่าแรงที่ขึ้นก็ไม่ได้มากเลยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงมากเวลานี้ เรามองว่าค่าแรงน่าจะอยู่ที่ 400 บาทต่อวันด้วยซ้ำไป” นายยงยุทธกล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2556 ภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) มีความเสี่ยงสูงในการทำธุรกิจโดยเฉพาะต้นทุนที่จะต้องปรับขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ประกอบกับต้นทุนอื่นๆ ทั้งวัตถุดิบ ขนส่ง ก็เริ่มมีทิศทางขยับราคาทำให้แนวโน้มเอสเอ็มอีจะประสบปัญหาสภาพคล่อง และหากปรับตัวไม่ได้ที่สุดมีทิศทางที่จะต้องปิดกิจการมากขึ้น
“มาตรการเยียวยาจากรัฐดูแล้วก็ช่วยได้ไม่มาก ที่สุดเชื่อว่าธุรกิจโดยรวมอาจต้องทยอยปรับราคาสินค้าในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้าเป็นต้นไปเพื่อที่จะลดภาระต้นทุนส่วนหนึ่งเพื่อความอยู่รอด เพราะไตรมาสแรกจะยังคงใช้สต๊อกสินค้าเก่าอยู่” นายธนิตกล่าว
สำหรับธุรกิจส่งออกทิศทางตลาดยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะแนวโน้มวิกฤตอียูปี 2556 มีโอกาสตกต่ำสุดขีดจากปัญหาการเงินของหลายประเทศที่เพิ่มขึ้น ตลาดสหรัฐอเมริกาหลังบารัค โอบามา ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยก็คาดว่าจะทรงตัวจากนโยบายที่จะต้องรัดเข็มขัด และจะต้องจับตาผู้นำจีนคนใหม่ที่ค่อนข้างไปแนวชาตินิยมก็อาจมีปัญหากับญี่ปุ่น ซึ่งในแง่ลงทุนอาจทำให้ทุนไหลเข้าไทยเพิ่มแต่ภาพรวมส่งออกปีหน้าการแข่งขันจะรุนแรง การขยายตัวมากสุดของไทยโต 5-6% จากปีนี้