xs
xsm
sm
md
lg

สื่อแมกกาซีนเดี้ยง 9 เดือนแรกวูบ 14%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สื่อแมกกาซีนเดี้ยง 9 เดือนติดลบ 14% ซ้ำ ก.ย.เดือนเดียวยังวูบ 27.7% ขณะที่สื่ออินสโตร์โตสวนกระแส 92.5% ส่วนทีวีสื่อหลัก ยังโตได้ 6.89% ส่งภาพรวมโฆษณายังเติบโต 8.06% แตะ87,438 ล้านบาท

จากผลการสำรวจของทางบริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วงเดือน ก.ย. 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยประสบสถานการณ์ฝนตกหนักนั้น ยังคงมีตัวเลขการเติบโตได้กว่า 6.55% คิดเป็นมูลค่า 9,702 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ซึ่งสื่อทีวียังคงเป็นสื่อหลักที่เติบโต 6.89% หรือมีมูลค่า 5,710 ล้านบาท

โดยในเดือน ก.ย.นี้ยังพบว่าสื่ออินสโตร์เป็นสื่อที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 92.54% หรือมีมูลค่า 258 ล้านบาท รองลงมาคือสื่อในโรงภาพยนตร์เติบโต 47.08% คิดเป็นมูลค่า 881 ล้านบาท และสื่อเคลื่อนที่เติบโต 16.74% มูลค่า 2,742 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์กลับเป็นสื่อที่มีอัตราการเติบโตลดลง คือ สื่อนิตยสารโตติดลบ 27.77% หรือมีมูลค่าเพียง 398 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน และสื่อหนังสือพิมพ์โตติดลบ 8.61% หรือมีมูลค่าเพียง 1,189 ล้านบาทเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.ปีก่อนเช่นกัน

และเมื่อเทียบเม็ดเงินโฆษณาตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) พบว่ามีการเติบโตที่ 8.06% หรือคิดเป็นมูลค่าได้กว่า 87,438 ล้านบาท โดยมีเพียงสื่อนิตยสารเพียงสื่อเดียวที่มีอัตราการเติบโตติดลบถึง 13.99% หรือมีมูลค่าเพียง 3,781 ล้านบาท โดยสื่ออินสโตร์เป็นสื่อที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 77.53% หรือมีมูลค่าที่ 2,141 ล้านบาท รองลงมาคือสื่อในโรงภาพยนตร์เติบโต 63.49% หรือมีมูลค่ากว่า 8,949 ล้านบาท และอันดับสาม คือสื่ออินเทอร์เน็ต เติบโต 20.85% หรือมีมูลค่า 429 ล้านบาท ส่วนสื่อหลักอย่างสื่อทีวี เติบโต 3.63% มูลค่า 50,737 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การที่สื่ออินสโตร์ และสื่อในโรงภาพยนตร์มีอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ส่วนสำคัญมาจากปัจจัยด้านรีเทลที่มีการขยายสาขาต่อเนื่อง บวกกับทั้ง 2 สื่อเมื่อเทียบกับสื่อหลักอย่างสื่อทีวียังคงมีอัตราค่าโฆษณาต่ำกว่า และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากกว่า ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีแนวโน้มเติบโตลดลงนั้น ปัจจัยสำคัญมาจากการที่มีสื่อทางเลือกให้เจ้าของสินค้าและบริการหันไปใช้มากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าสื่อรองเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ดีกว่า ในขณะที่ราคาโฆษณามีอัตราใกล้เคียงกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น