อพท. ดัน 13 ชุมชนต้นแบบ นำร่องสู่กระบวนการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผนึกภาคี ภาครัฐ เอกชนและองค์กรส่วนท้องถิ่น กำหนดมาตรฐานพื้นที่ ก่อน ส่งต่อฝ่ายภาคีด้านการตลาด ทั้ง สทท. ททท. และ ทีต้า จัดเส้นทางนำเสนอนักท่องเที่ยว เน้นสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น
นางศิริกุล กสิวิวัฒน์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ได้คัดเลือก 13 ชุมชนต้นแบบ จาก 6 พื้นที่ที่อพท.ได้ประกาศเป็นพื้นที่ที่เศษเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ยกเว้น เมืองเก่าอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นโครงการนำร่องที่จะนำมาพัฒนาภาคใต้ยุทธศาสตร์มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวชุมชน 5 ด้าน ตามที่ อพท.และคณะกรรมการรับรองแหล่งท่องเที่ยวได้กำหนดไว้ ประกอบด้วย ด้านการบริหารจัดการ ,การจัดการทรัพยากรท่องเที่ยว , การจัดการด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ,การดำเนินการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ และ การพัฒนาด้านศักยภาพบุคคลากร
“ที่ผ่านมา อพท. ได้ร่วมทำงานกับภาคีคือ คณะกรรมการรับรองแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนและผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ซึ่งถือเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันครั้งแรก ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ สทท. และ สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัยหรือทีต้า จัดทำข้อกำหนดของมาตรฐานการท่องเที่ยวชุมชน รวม 5 ด้าน 100 ข้อ แล้วให้แต่ละชุมชนในพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ เช็คศักยภาพของชุมชนตัวเอง จากนั้น จะถูกประเมินด้วยคณะกรรมการ อีกครั้ง หากชุมชนใดไม่ถึงเกณฑ์ อพท. และผู้ทรงความรู้ก็จะเข้าไปแนะนำช่วยเหลือ เบื้องต้นคัดมาได้ 13 ชุมชนดังกล่าว”
ในปีงบประมาณ 2556 จากนี้ไปอีก 6 เดือน (ต.ค.-เม.ย.) ทั้ง 13 ชุมชน จะต้องนำความรู้ที่ได้รับไป นำไปสู่การปฎิบัติ โดย อพท. จะวัดผลอีกครั้ง ในเดือนเม.ย.56 และเมืองเห็นว่าชุมชนใดมีความพร้อมก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการฯภาคการตลาด คือ ททท. สทท. และ ทีต้า ที่จะนำไปบรรจุเป็นเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อนำเสนอขายต่อนักท่องเที่ยวที่สนใจทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
และด้วยแผนการทำงานดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2556 อพท.ยังเตรียมสร้างเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ คือ “ตัวชี้วัดอยู่ดีมีสุข” เพื่อจะใช้ประเมินผลสำเร็จของการทำงานในปี 2557 เมื่อทั้ง 13 ชุมชนเกิดความสำเร็จ เชื่อว่าจะเป็นชุมชนแบบอย่างให้แก่ชุมชนใกล้เคียง ได้เข้าไปเรียนรู้และเกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน
ทางด้านนายสุเทพ เกื้อสังข์ ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน กล่าวว่า การทำงานของ อพท. จะเน้นให้แต่ละชุมชน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ต่อยอดเพิ่มมูลค่า ภายใต้แนวทางการทำงาน “ต่อยอด สร้างมูลค่า หาจุดต่าง อย่างสร้างสรรค์ และแบ่งปันชุมชน” และเพื่อการทำงานเป็นหนึ่งเดียว จึงให้แต่ละชุมชนมีการตั้ง ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน.......โดยแต่ละชุมชนจะระบุท้ายชื่อชมรมว่าชื่อชุมชนอะไร
“แต่ละชุมชนมีจุดอ่อนจุดแข็ง และทรัพยากรที่แตกต่างกัน เมื่อนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ก็จะได้แหล่งท่องเที่ยวที่แปลกและแตกต่างกันออกไปตามเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของพื้นที่ เป็นทางเลือกให้แก่นักท่องเที่ยวจากเดิมที่จะนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวเพียงหาดทรายชายทะเล ภูเขา แต่ การท่อเที่ยวแบบวิถีชีวิตชุมชน ยังไม่ค่อยมีการพูดถึง แต่เมื่อชุมชนมีวิธีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีความสะดวกในการเข้าถึงชุมชน ความชัดเจนของแหล่งท่องเที่ยว ก็สามารถนำเสนอขายได้ แต่จะต้องเป็นเพียงรายได้เสริมเท่านั้น รายได้หลักยังเป็นอาชีพเดิมของคนท้องถิ่น เพราะแต่ละชุมชน จะมีฤดูท่องเที่ยวที่แตกต่างกันไป ฝ่ายการตลาดก็สามารถหยิบสินค้าไปนำเสนอขายได้ตลอดปี”
อย่างไรก็ตาม 13 ชุมชน ต้น แบบ ได้แก่ ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว เกาะช้าง จ.ตราด ชุมชนบ้านสันลมจอง จ.เชียงใหม่ ชุมชนตำบลห้วยใหญ่ เมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง ชุมชนเทศบาลเมืองเก่า สุโขทัย ชุมชนบ้านกกสะท้อน จงเลย และ ชุมชนกลุ่มเทศบาลเมืองเก่าและวัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน เป็นต้น