xs
xsm
sm
md
lg

“สิงห์” ทุ่มหมื่นล้านผุดโรงงานใหม่สู้ช้าง ปิดดีลเป๊ปซี่ยันไม่ผลิตไม่จำหน่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สิงห์” ประกาศกร้าวทุ่ม 1 หมื่นล้านบาทใน 2 ปีผุดโรงงาน 2 แห่ง พร้อมเร่งขยายกำลังการผลิตเบียร์บางเลน 1,000 ล้านลิตร จ่อลุยส่งออกตลาดอาเซียน ยุโรป-ตลาดในประเทศโตพรวด ยันไม่ผุดโรงงานต่างประเทศสวนทางคู่แข่ง พร้อมเทกโอเวอร์โรงงานขนมขึ้นรูป ร่วมทุนเคจีซีผลิตสาหร่าย ปิดดีลสิงห์-เป๊ปซี่ไม่รับผลิต-จำหน่าย

นายพลิศร์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำดื่มโซดาตราสิงห์ เปิดเผยถึงแผนการลงทุนของบริษัทครั้งใหญ่ว่า เตรียมงบประมาณ 10,000 ล้านบาทสร้างโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิตเบียร์เพิ่มอีก 2 แห่ง คือที่จังหวัดราชบุรี และกบินทร์บุรี พื้นที่ 500 ไร่ ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มเบียร์สิงห์มีโรงงานผลิตเบียร์และเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ 5 โรงงาน จากเดิมมี 3 แห่ง คือที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดปทุมธานี และที่บางเลน ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตเฟส 2 โดยเพิ่มกำลังการผลิตจาก 280 ล้านลิตรเป็น 1,000 ล้านลิตรในปลายปีหน้า 

บริษัทจะลงทุน 10,000 ล้านบาททั้งหมดในปลายปี 2557 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การลงทุนขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับแผนการส่งออกกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ไปในอาเซียน จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และในตลาดอื่นๆ อย่าง ยุโรป ฯลฯ อีกทั้งรองรับการเติบโตของตลาดภายในประเทศ ซึ่งปีนี้ตลาดเบียร์เติบโต 13% จากมูลค่าตลาดกว่า 8-9 หมื่นล้านบาท ขณะที่เบียร์สิงห์โต 17% เนื่องจากคนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน การเมืองไทยที่นิ่งทำให้คนมีความเชื่อมั่น และในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ผลจากน้ำท่วมส่งผลให้สินค้าขาดตลาด 

“บริษัทไม่สร้างโรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเชื่อว่าการส่งออกสินค้าไปน่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่าที่จะเข้าไปตั้งโรงงาน นอกจากนี้บริษัทไม่เน้นเข้าซื้อกิจการของบริษัทท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเพราะกลุ่มเบียร์ของบริษัทมีส่วนแบ่งทั้งหมด 69% จากปีที่ผ่านมาช่วง 8 เดือนมีส่วนแบ่ง 65% และคาดว่าสิ้นปีนี้มีส่วนแบ่ง 69-70%” 

ล่าสุดบริษัทได้ทุ่มงบ 300 ล้านบาทซื้อโรงงานขนมขึ้นรูปที่ถนนบางนาตราดเพื่อผลิตขนมข้าวอบกรอบสู่ตลาด และทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท ร่วมทุนกับบริษัทเคเจซีเพื่อสร้างโรงงานผลิตสาหร่าย บนพื้นที่ 10 ไร่  ซึ่งคาดว่าโรงงานจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2556 โดยบริษัทได้จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่

ทั้งนี้ การรุกขยายไลน์สินค้ากลุ่มนอนแอลกอฮอล์ในเชิงรุกมากขึ้น หลังจากใน 8 เดือนที่ผ่านมาสินค้าหลายตัวมีการเติบโตที่ดี โดยสาหร่ายอบกรอบมาชิตะโตกว่า 100% มีส่วนแบ่ง 25% จากตลาด 2,500 ล้านบาท ข้าวพันดีโต 50% น้ำดื่มสิงห์โต 18% โซดาโต 10% ส่วนบีอิ้งไม่เติบโตเพราะตลาดหดตัว 

**สิงห์เช่าแวร์เฮาส์รับมือน้ำท่วม
นายพลิศร์กล่าวถึงการรับมือน้ำท่วมในปีนี้ว่า ได้เจรจาเช่าแวร์เฮาส์ 7 แห่งทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 6 เดือน จากปัจจุบันมีแวร์เฮาส์ทั้งหมด 17 แห่ง โดยกรณีที่น้ำจะท่วมบริษัทจะนำสินค้าที่ผลิตเพื่อสต๊อกไว้ไปเก็บที่แวร์เฮาส์ทันที เบื้องต้นคาดว่าจะสต๊อกเบียร์ได้ 3สัปดาห์ ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องเช่าแวร์เฮาส์เพื่อสามารถกระจายสินค้าได้ครอบคลุม
เพราะหากน้ำท่วมจะทำให้บริษัทไม่สามารถขนสินค้าออกจากโรงงานได้ ขณะที่ทางโรงงานได้สร้างกำแพงถาวร 3 เมตรขึ้นเพื่อกั้นน้ำท่วม และสร้างเขื่อนรองรับปริมาณน้ำ ซึ่งสามารถป้องกันสินค้าโรงงานจากความเสียหายได้ 

ล่าสุดบริษัทได้ขยายช่องทางจำหน่ายกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ “สิงห์ ออนไลน์ ชอป” หรือ www.singhaonlineshop.com และแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์ไอโฟน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สั่งง่าย ทุกที่ ทุกเวลา” เนื่องจากพบว่าตลาดออนไลน์เป็นตลาดใหญ่ มีคนไทยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์รวมมูลค่า 7.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของช่องทางการค้าปลีก จากการมีคนใช้อินเทอร์เน็ต 24 ล้านคน มีโทรศัพท์มือถือ 68 ล้านเครื่อง และมีผู้ใช้สมาร์ทโฟน 11 ล้านคน

ขณะที่ปริมาณการซื้อสินค้าของบริษัทรวมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ 1.3 ล้านหน่วยต่อวัน โดยได้เริ่มทดลองจำหน่ายน้ำดื่มโซดาสิงห์ บีอิ้ง น้ำแร่เพอร์ร่า สาหร่ายมาชิตะ และข้าวพันดี รวมทั้งสินค้าจากพันธมิตรทางธุรกิจในช่วงเดือนสิงหาคม 

การจำหน่ายทางออนไลน์ช่วงแรกทดลองจำหน่ายในกรุงเทพฯ และเดือนตุลาคมเริ่มขยายปริมณฑล ส่วนต้นปีนี้จะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศผ่านเอเยนต์ร่วม 250 ราย และหน่วยรถจำหน่าย 2.5 หมื่นคัน โดยเตรียมโปรโมชันเพื่อกระตุ้นการซื้อกลุ่มเป้าหมายวัยทำงาน

ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้านี้ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ช่องทางออนไลน์เป็น 5-10% จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้กลุ่มแอลกอฮอล์มาจากช่องทางเทรดิชันนัลเทรด 85% และโมเดิร์นเทรด 15% สำหรับผลประกอบการปีนี้กลุ่มนอนแอลกอฮอล์ตั้งเป้ามีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท จากปีที่ผ่านมีรายได้ 8,000-9,000 ล้านบาท

ส่วนด้านการเจรจากับเป๊ปซี่ โค เพื่อให้บริษัทเป็นผู้ผลิตน้ำอัดลมและกระจายสินค้าให้ แต่เนื่องจากเงื่อนไขของทั้งสองบริษัทไม่ลงตัว ทำให้การเจรจาจบลงเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ขณะนี้เป๊ปซี่ไม่มีการผลิตน้ำอัดลมบรรจุภัณฑ์ขวดคืนสู่ตลาด
แต่ยังสามารถผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องและขวดพีอีทีจากโรงงานผลิตที่ซื้อจากซานมิเกล ซึ่งในเบื้องต้นคงมีการนำเข้าขวดคืนมาจากประเทศเพื่อนบ้านทดแทนก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น