xs
xsm
sm
md
lg

ผุดศูนย์ “เอ-ลิงก์” เชื่อมแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รับกำลังซื้อย่านตะวันออกของกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมคิด ตันทัดวาณิชย์กุล (ซ้าย)  ไชยา เริงเกษตรกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอร์พอร์ตลิ้งค์ สแควร์ จำกัด (ขวา)
แอร์พอร์ตลิงก์สแควร์ผุดเอ-ลิงก์ ทุ่มกว่า 900 ล้านบาทลุยสร้าง ‘เอ-ลิงก์ สแควร์’ ชอปปิ้งมอลล์แนวใหม่ ‘มิกซ์ยูส’ เชื่อมต่อสถานีแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รามคำแหง ย้ำ! มั่นใจที่นี่ฮับใหม่ ศูนย์กลางแห่งอนาคต

นายสมคิด ตันทัดวาณิชย์กุล ผู้ก่อตั้งบริษัท ธิงค์เวิร์ค จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเอ-ลิงก์ สแควร์ เปิดเผยถึงการเลือกลงทุนในทำเลย่านรามคำแหงเพื่อก่อสร้างโครงการ ‘เอ-ลิงก์ สแควร์’ ของบริษัท แอร์พอร์ต ลิ้งค์ สแควร์ จำกัด ว่า ‘รามคำแหง-ทองหล่อ’ มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่สุขุมวิท 71, เอกมัย, ทองหล่อ, คลองตัน, พัฒนาการ, พระราม 9, รามคำแหง และเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นชุมชนกำลังการซื้อสูง และเป็นย่านที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อีกทั้งยังเป็นถนนสายหลักที่เชื่อมกับถนนสายต่างๆ ที่มุ่งออกไปสู่ชุมชนที่พักอาศัย และเป็นเส้นทางเชื่อมจากตัวเมืองออกไปยังฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นทำเลทองระดับเกรด A ของกรุงเทพฯ

นายไชยา เริงเกษตรกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอร์พอร์ตลิ้งค์ สแควร์ จำกัด กล่าวว่า เราลงทุนไป 900 ล้านบาท ซึ่งตามแผนงานก่อสร้างอาคารจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเป็นทางการในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ การสร้างอาคารชอปปิ้งเซ็นเตอร์ที่ A-Link Square (เอ-ลิงก์ สแควร์) และสร้างอาคารโรงแรมหรูระดับ 6 ดาวในนาม Niras Bangkok (นิราศ บางกอก) บนพื้นที่อาคารรวม 40,000 ตารางเมตร ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ พื้นที่ A, B, C และ D จำนวน 6 ชั้น พร้อมด้วยชั้นจอดรถใต้ดิน 2 ชั้นที่รองรับรถได้ถึง 300 คัน พื้นที่ A, B, C จะถูกจัดสรรเป็นชอปปิ้งเซ็นเตอร์ หรือเอ-ลิงก์ สแควร์ สามารถรองรับร้านค้าได้ถึง 113 ร้านค้า สัดส่วนต่างๆ ของร้านค้าในโครงการ แบ่งเป็นร้านอาหาร 38%, แฟชั่น 18%, ไลฟ์สไตล์ 13%, ความงาม, คลินิก และสปา 10%, ธนาคารและบริการ 6%, คาเฟ่และเบเกอรี 9%, มินิชอป 3%, ซูเปอร์มาร์เกต 3%
โมเดลโครงการ เอ ลิ้งค์  มูลค่า 900 ล้านบาท
จากการแบ่งสัดส่วนจะพบว่าร้านอาหารมีสัดส่วนมากกว่าอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันคนรับประทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น และคนสนใจลงทุนในธุรกิจร้านอาหารมากขึ้น เพราะไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่เปลี่ยนไป จากการสำรวจตลาดพบว่าความหลากหลายของร้านอาหารในศูนย์จะเป็นตัวช่วยดึงลูกค้าให้สามารถเข้ามาใช้บริการได้บ่อยขึ้น สามารถเลือกร้านที่แตกต่างกันได้ในแต่ละวันตลอดสัปดาห์ และสัดส่วน 35-40% ถือว่ากำลังเหมาะสม

นายไชยา เริงเกษตรกรณ์ เผยต่อว่า พื้นที่อาคาร D ของโครงการจะถูกจัดสรรเพื่อสร้างโรงแรมนิราศ บางกอก โรงแรมหรูระดับ 6 ดาว ขนาด 63 ห้อง ตัวอาคารถูกออกแบบตามสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ (Colonial Style) นอกจากนี้ยังได้วางแผนงานเพิ่มที่จอดรถไว้รองรับลูกค้าอีก 600 คัน รวมเป็นสามารถจอดรถได้ 900 คัน

แผนการตลาดคือ การใช้กลุยทธ์ ‘The Link to all you Style’ โดยเน้นการสร้างกิจกรรมการตลาดตอบสนองทุกเพศและทุกวัยด้วยดิจิตอลมาร์เกตติ้ง การทำโปรโมชันร่วมกับร้านค้าผู้เช่า การส่งเสริมการตลาดโดยเน้นการเดินทางท่องเที่ยวร่วมกับสายการบิน บริษัทห้างร้านบริการนักท่องเที่ยว และการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายแก่ผู้ใช้บริการโดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์อีกด้วย นอกจากนี้ เรายังวางแผนรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ โดยสามารถเช็กตารางบินได้ที่นี่เลยด้วยงบการตลาด 20 ล้านบาท

“โครงการฯ คาดว่าจะคืนทุนภายใน 6 ปีหลังเปิดตัว ส่วนแผนรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 3-5 ปีข้างหน้า คือการสร้างโรงแรมขนาด 2,000 ห้องเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดที่เข้ามาติดต่อธุรกิจ หรือสัมมนาในกรุงเทพมหานคร” นายไชยากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น