xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เล็งจับมือการเคหะฯ ตั้งบริษัทลูกสร้างที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
รฟม.เดินหน้าแก้ระเบียบปลดล็อก ห้ามพัฒนาเชิงพาณิชย์ หวังเพิ่มรายได้สร้างกำไร เตรียมจับมือ ร.ฟ.ท.และการเคหะฯ ตั้งบริษัทลูกผุดที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าสีเขียว, ชมพู และส้ม เพิ่มผู้โดยสารเข้าระบบ “ยงสิทธิ์” เผยผู้โดยสารรถใต้ดินยังต่ำเป้าเหตุโครงข่ายไม่ครอบคลุม ยันอีก 8 ปีเพิ่มอีก 200 กม.แน่

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการเรื่องระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกับการพัฒนาประเทศ วานนี้ (20 ส.ค.) ว่า การพัฒนารถไฟฟ้าของ รฟม.ในอนาคตจะมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้และสร้างกำไร โดยการพัฒนาเชิงธุรกิจ ทั้งเรื่องของสินค้าและการโฆษณาให้เข้ามามากขึ้น เพื่อลดภาระต้นทุนไม่ต้องรอให้สร้างรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้ รฟม.สามารถนำพื้นที่มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ ในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินประมาณ 2 แสนคนต่อวัน ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่จะต้องมีผู้ใช้บริการ 4-5 แสนคนต่อวัน ทั้งนี้ ประชาชนยังปรับตัวช้า ประกอบกับโครงข่ายรถไฟฟ้าไม่ครอบคลุม โดย 20 ปีมีเพียง 2 สาย คือ รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้าบีทีเอส ระยะทางรวมประมาณ 50 กิโลเมตรเท่านั้น

ทั้งนี้ ตามแผนจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าอีก 6 เส้นทาง ระยะทาง 200 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6 แสนล้านบาท โครงข่ายจะเพิ่มเป็น 10 เท่า ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2562 รวมระยะเวลา 4 ปี การเดินทางของคนกรุงเทพฯ จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะถึง 50% การเปิดให้บริการ 20 บาทตลอดสาย ก็ทำให้โครงสร้างรายได้คุ้มทุนได้แต่รัฐบาลจะต้องใช้งบอุดหนุนเป็นจำนวนมหาศาล จำเป็นต้องแก้ระเบียบเพื่อให้นำพื้นที่ 1,000 ไร่มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอย่างเดียว

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจะต้องควบคุมไปกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น รฟม. การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการเคหะแห่งชาติ จะร่วมกันตั้งเป็นบริษัทลูกมาบริหารจัดการด้านที่อยู่อาศัย โดยพิจารณาจัดหาพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เช่น สายสีเขียว บริเวณลำลูกกา สายสีชมพู มีนบุรี สายสีส้ม บางกะปิ ซึ่งแนวทางดังกล่าวขณะนี้ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันแล้ว ตามนโยบายของรัฐบาลในการย้ายผู้บุกรุกริมคลองประมาณ 150,000 รายออกจากพื้นที่เพื่อเปิดทางระบายน้ำ

ด้านนายสมพงษ์ จิรบันดาลสุข หัวหน้าฝ่ายวางผังพัฒนาพื้นที่ด้านตะวันตก สำนักผังเมือง กทม. กล่าวว่า ร่างผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดก่อนประกาศใช้ ได้มีการพิจารณาการใช้พื้นที่รองรับการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าไว้แล้ว และยังกำหนดการใช้พื้นที่ในส่วนต่างๆ ให้เกิดความสมดุลของที่อยู่อาศัยและแรงงาน เปิดโอกาสให้สามารถก่อสร้างโรงงาน หรือออฟฟิศ หรือพื้นที่ธุรกิจต่างๆ นอกเมืองได้ แต่ยังคงพื้นที่เกษตรกรรมรักษาพื้นที่ระบายน้ำไว้เพื่อลดความหนาแน่นการเดินทางเข้าเมืองช่วงเช้า ทำให้พื้นที่ย่านมีนบุรี วงเวียนใหญ่ และอ่อนนุชเป็นพื้นที่สีแดงมากขึ้น

ขณะที่พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าสามารถก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยได้ในระยะ 500 ม.จากชานชาลาสถานี แต่เดิมกำหนดไว้ 500 ม.จากจุดกึ่งกลางสถานี และหากเป็นสถานีใหญ่ที่มีอาคารจอดแล้วจร จะสามารถสร้างอาคารได้ใหญ่ขึ้นกว่าสถานีทั่วไปอีก 20% นอกจากนี้ยังมีการวางผังคมนาคมเพิ่มขึ้นจากผังเมืองรวมฉบับก่อน โดยกำหนดให้ซอยต่างๆ มีความกว้างเป็นมาตรฐานมากขึ้น อย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่า 12 ม. โดยห้ามสร้างอะไรล้ำแนวเด็ดขาด เพื่อให้การเดินทางออกจากซอยไปขึ้นรถไฟฟ้าได้สะดวกรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น