xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ “ชาวนา” ชอบจำนำข้าว “ธนวรรธน์” ห่วงใช้งบ 4 แสนล้านเปิดช่องโกง-ไม่คุ้มค่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพล ม.หอการค้าฯ ชี้ชาวนาชอบจำนำข้าวมากกว่าประกันรายได้ หวังรัฐทำนโยบายระยะยาว แต่ห่วงการใช้จำนวนเงินสูงถึง 4 แสนล้านบาทสูงเท่ากับงบประมาณทั้งปี 56 จึงต้องติดตามดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดว่าได้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ “ทัศนะต่อนโยบายของรัฐบาล : จำนำข้าวและประกันราคาข้าว แนวทางในการแก้ไขหนี้เกษตรกร” พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ 86.5% เห็นควรให้รัฐบาลมีมาตรการจำนำข้าวหรือประกันราคาข้าวต่อไปในระยะยาว

โดยเกษตรกร 35.4% พอใจกับโครงการรับจำนำข้าวเพราะได้ราคาดีกว่า ไถ่ถอนได้สะดวกกว่า และได้เงินเร็วกว่า ส่วนโครงการประกันราคาข้าวนั้นมีเกษตรกรพอใจ 28.2% เพราะให้ผลตอบแทนสูง แต่รัฐบาลใช้เงินน้อยกว่า ไม่บิดเบือนราคาเกินไป ทำให้ราคาข้าวจริงไม่ตกและมีความยั่งยืนกว่า

เมื่อถามว่า หากรัฐบาลจำเป็นต้องประกาศยกเลิกการจำนำข้าวควรทำเมื่อใดนั้น ส่วนใหญ่ 32% เห็นว่าไม่ควรยกเลิกเลย อีก 31.4% เห็นว่าควรยกเลิกเมื่อราคาสูงขึ้น ส่วน 19.7% จะออกมาเรียกร้องให้ขยายเวลาจำนำข้าวต่อหากรัฐบาลยกเลิกการจำนำ ขณะที่อีก 11% ยกเลิกเมื่อเห็นว่าต้นทุนต่ำลง และ 25.2% เห็นว่าควรเลิกเมื่อเปิดเสรีอาเซียน

“นโยบายรับจำนำใช้เงินสูงถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับงบประมาณทั้งปี 56 จึงต้องติดตามดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดว่าได้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่ เบื้องต้นคงยังประเมินไม่ได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่เพราะเพิ่งเริ่มทำเพียงปีแรก แต่ที่ตอบได้เลยคือเกษตรกรส่วนใหญ่พอใจกับนโยบายรับจำนำและเห็นว่าไม่ควรยกเลิกมากถึง 1 ใน 3”

อย่างไรก็ดี หากมองในด้านเกษตรกรถือว่าทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นทั้งระบบ 100,000-180,000 ล้านบาท (ทั้งที่เข้าร่วมโครงการและไม่ได้เข้าร่วมโครงการ) ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวสามารถเข้าไปช่วยหมุนเวียนกระตุ้นระบบเศรษฐกิจได้ 2-2.5 เท่าตัว และช่วยให้เกษตรกรปลดหนี้ได้ภายใน 3 ปี

แต่ผู้ส่งออกข้าวยังกังวลเรื่องการทุจริตและรั่วไหลของเม็ดเงินสูงถึง 100,000-120,000 ล้านบาท(รวมค่าดำเนินการ) ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ ส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศ 50-60% ของ GDP

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจทัศนะต่อการแก้ปัญหาหนี้ พบว่าภาระหนี้สินเกษตรกรต่อครัวเรือนโดยรวมในปี 55 อยู่ที่ 114,378.11 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 11% ที่มีภาระหนี้สินอยู่ที่ 103,047.06 บาท/ครัวเรือน คาดว่าในปี 56 จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ 3-5% โดยสาเหตุที่ต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้นคือ ต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น, มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว, สินค้าอุปโภคบริโภคแพง รวมทั้งส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของเกษตกร 1,200 ตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 10-16 ก.ค. 55


กำลังโหลดความคิดเห็น