xs
xsm
sm
md
lg

การพิมพ์ไทยรุก ตปท.รับเออีซี จี้รัฐเร่งเคลียร์ภาษี-เลิกทะเลาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมการค้าวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทยชี้ถึงปี 2558 อุตสาหกรรมนี้ทะลุ 500,000 ล้านบาทแน่ พร้อมรับเออีซีเตรียมนำสมาชิกผู้ประกอบการไทยบุกตลาดต่างประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี ย้ำระบบการจัดเก็บภาษียังไม่เคลียร์ วอนรัฐบาลจัดการด้วย

นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ รองนายกสมาคมการค้าวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ของไทยถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดและมีความแข็งแกร่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับในประเทศอาเซียนด้วยกัน แต่ยังไม่ใช่รายใหญ่สุดเมื่อเทียบในระดับเอเชียทั้งหมด ดังนั้น เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 แล้ว มั่นใจว่าอุตสาหกรรมของไทยจะสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้มาก ซึ่งถึงเวลานั้นคาดว่าอุตสาหกรรมโดยรวมในไทยจะมีมูลค่าประมาณ 500,000 ล้านบาท

ปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้มีมูลค่าประมาณ 350,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 15% ต่อปี แบ่งเป็น 7 กลุ่มใหญ่ คือ 1. สื่อสิ่งพิมพ์ 2. บรรจุภัณฑ์พวกกล่องกระดาษ 3. บรรุภัณฑ์อาหาร-เครื่องสำอาง 4. กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 5. อุตสาหกรรมเท็กซ์ไทล์ การ์เมนต์ 6. กลุ่มกระจก 7. กลุ่มอุปกรณ์เกี่ยวกับรถยนต์ โดยมีกลุ่มบรรจุภัณฑ์พวกกล่องกระดาษ อาหาร เครื่องสำอางสัดส่วนใหญ่ที่สุด และมีการเติบโตมากที่สุดด้วย ขณะที่กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์นั้นตลาดไม่เติบโตเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วคาดว่าปีนี้ทั้งอุตสาหกรรมน่าจะเติบโต 20%

นายไชยวัฒน์กล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมโดยรวมก็ยังคงมีปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะจากนโยบายของภาครัฐบาลที่จะต้องสร้างความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษีต่างๆ ทั้งภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิตต่างๆ ซึ่งยังไม่ค่อยชัดเจนและไม่ค่อยเป็นระบบ มาตรฐานสากล รวมทั้งยังไม่มีความแน่นอนด้วย ทั้งในด้านของการประเมินราคาภาษี และการเรียกเก็บภาษีต่างๆ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างมากเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร โดยกว่า 80% ในอุตสาหกรรมนี้ล้วนเป็นผู้ประกอบการคนไทยทั้งสิ้น

ส่วนปัญหาการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างผลกระทบแก่อุตสาหกรรมด้วย หากเกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมา เพราะทุกครั้งที่เกิดความวุ่นวายอุตสาหกรรมทั้งระบบจะชะลอตัวทันที ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐและฝ่ายการเมืองเลิกทะเลาะกัน

สำหรับการรุกตลาดต่างประเทศของอุตสาหกรรมนี้ นายไชยวัฒน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาในนามของสมาคมได้มีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว โดยเฉพาะการขยายธุรกิจเข้าไปในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี หรือกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ติดกับไทย และอุตสาหกรรมนี้ในประเทศเหล่านี้ยังมีช่องว่างอีกมากที่จะรุกตลาดได้

โดยเฉพาะประเทศพม่า น่าสนใจที่สุดเพราะมีประชากรมากกว่า 50 ล้านคน และเพิ่งเริ่มเปิดประเทศ ซึ่งมีโรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 2,000 แห่ง แต่ก็ยังไม่ทันสมัยเท่ากับของไทย เพราะส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรมือสองที่นำมาใช้ในการผลิตงาน ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้พบปะหารือกับนายกสมาคมสื่อสิ่งพิมพ์ของพม่า รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีเพื่อหาแนวทางในการทำธุรกิจร่วมกันแล้ว ซึ่งพม่าต้องการ 3 เรื่อง คือ 1. การถ่ายทอดเทคโนโลยี 2. การลงทุน 3. การศึกษาด้านการพิมพ์

ส่วนที่ประเทศลาวนั้น ในสัปดาห์หน้าทางสมาคมฯ จะเข้าพบกับผู้บริหารของกรมตีพิมพ์และจัดจำหน่าย โดยมีผู้ประกอบการของลาวมากกว่า 38 บริษัทเข้าร่วมด้วย ขณะที่กัมพูชาอยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานกับทางรัฐบาลเพื่อขอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการพิมพ์เช่นกัน ส่วนที่เวียดนาม ได้ติดต่อผ่านทางบริษัทเอกชนที่ชื่อ ซันซิน ที่เป็นผู้จัดงานแสดงสินค้าที่ได้มีการดำเนินงานไปก่อนหน้านี้แล้ว

“มีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการของไทยจะเข้าไปตั้งโรงงานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ เพราะเรามีฐานการผลิตที่พร้อมอยู่แล้ว และฐานเราแน่นหนาสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น คาดว่าอีก 3-5 ปีจากนี้อุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยจะไปไกลกว่านี้แน่นอน” นายไชยวัฒน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น