xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกชี้ขึ้นค่าแรงเสริมสภาพคล่อง พนักงานมีเงินออม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผยผลสำรวจมาตรการการขึ้นค่าแรงตามนโยบายรัฐบาลส่งผลในเชิงบวก เสริมสภาพคล่องต่อค่าครองชีพ พนักงานมีเงินออมเหลือเก็บ

นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากการที่ภาครัฐได้ประกาศมาตรการปรับขึ้นค่าแรงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาเป็นระยะเวลา 3 เดือน สมาคมฯ ได้ทำการสำรวจเพื่อประเมินผลค่าครองชีพของพนักงานในกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ โดยสุ่มสำรวจพนักงานจำนวน 400 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานในระดับพนักงานขาย และแคชเชียร์ สมาคมฯ ได้จัดทำผลสำรวจด้วยการตั้งคำถามกับพนักงานที่ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวว่า สามารถช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันบ้างหรือไม่ คำตอบที่ได้รับกลับมานั้นส่งผลในเชิงบวกอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจพอสมควร

โดยรายละเอียดของผลสำรวจสมาคมฯ ได้แบ่งเป็นหัวข้อ และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เปรียบเทียบให้เห็น ดังนี้ ผลสำรวจ 1. พนักงานมีรายได้เพียงพอ และมีเงินออมเหลือเก็บ ก่อนปรับ 5.28% หลังปรับ 16.33% สรุปผลเพิ่มขึ้น 11.05%

2. พนักงานมีรายได้เพียงพอ แต่ไม่สามารถมีเงินออม ก่อนปรับ 26.38% หลังปรับ 44.97% สรุปผลเพิ่มขึ้น 18.59%

3. พนักงานยังไม่สามารถนำรายได้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเพียงพอ ก่อนปรับ 68.34% หลังปรับ 38.70% สรุปผลลดลง 29.64%

จากตัวเลขดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผลของการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นนั้นมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพนักงานให้ดีมากยิ่งขึ้น และยังส่งเสริมให้พนักงานส่วนหนึ่งสามารถมีเงินออมเหลือเก็บ

สำหรับพนักงานของสมาชิกแต่ละรายนั้น ทุกบริษัทจะมีสวัสดิการช่วยเหลือค่าครองชีพและส่งเสริมการออมทรัพย์ของพนักงานที่แตกต่างกันออกไป เช่น ห้องอาหารพนักงานที่ขายอาหารให้พนักงานในราคาต่ำกว่าท้องตลาด และโครงการการจัดทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น

นางสาวบุษบา กล่าวทิ้งท้ายว่า มาตรการการปรับขึ้นค่าแรงตามนโยบายของภาครัฐนั้น เราในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจด้านค้าปลีกเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับมาตรการนี้ จากผลสำรวจที่ออกมาบริษัทในกลุ่มสมาชิกของสมาคมฯ รู้สึกยินดีที่เห็นพนักงานของเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพียงพอต่อค่าครองชีพที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมีเงินออมเหลือเก็บอีกด้วย

โดยภาพรวมแล้วการขึ้นค่าแรงส่งผลดีอย่างเห็นได้ชัด และหากมองถึงในระดับประเทศ เรื่องค่าจ้างของแรงงานเป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกได้ถึงการเติบโตและการพัฒนาของประเทศ หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้ประเทศมีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งก็คือ การที่ประชากรมีรายได้สูงขึ้น มีชีวิตและคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดี และมีกำลังที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถ ประชากรคือกำลังหลักของประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศ และขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวขึ้นสู่เวทีในระดับอาเซียนหลังจากการเปิด AEC ได้อย่างมีศักยภาพที่ดียิ่งขึ้น และหากจะวิเคราะห์ถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานว่ามีมาตรฐานหรือไม่นั้น ปัจจัยที่สามารถช่วยวิเคราะห์ได้ระดับหนึ่งก็คืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แรงงานได้รับนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น