“กสอ.” เร่งปลุกกระแสเอสเอ็มอีไทยตื่นตัวปรับแผนธุรกิจรองรับการเข้าสู่ AEC ปี 2558 วางเป้าหมายปี 56 ปั้นเอสเอ็มอีภาคผลิตอีก 2 หมื่นรายหวังขยายตลาดบุกเพื่อนบ้าน ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเร่งปรับตัวมองเป้าหมายลงทุนเพื่อนบ้านหลังเปิด AEC
นายวีรนันท์ นีลดานุวงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ปี 2556 กสอ.เตรียมแผนที่จะเข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมให้วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ประมาณ 20,000 ราย เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2555 ที่มีเป้าหมายการส่งเสริมฯ อยู่ที่ 80,000-10,000 ราย
“เรามุ่งเน้นการส่งเสริมให้ความรู้และกระตุ้นให้เอสเอ็มอีมีการตื่นตัวที่จะมองดูศักยภาพตนเองว่ามีจุดอ่อนที่ไหน และควรปรับอย่างไรเพื่อที่จะแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้เมื่อเปิด AEC ซึ่งการไปส่งเสริมและสนับสนุนจะเน้นเอสเอ็มอีที่เป็นภาคการผลิตเท่านั้น โดยเป้าหมายปีหน้า 10,000 รายจะเน้นเอสเอ็มอีทั่วๆ ไป ที่เหลือ 5,000 รายเน้นส่งเสริมความรู้เจ้าของกิจการ ส่วนที่เหลือเน้นการพัฒนาโรงงาน กระบวนการผลิต และแรงงาน” นายวีรนันท์กล่าว
ทั้งนี้ เอสเอ็มอีทั่วประเทศมีประมาณ 2.9 ล้านราย แต่ส่วนใหญ่เป็นภาคการบริการ ขณะที่ภาคการผลิตจริงๆ (ไม่รวมสินค้าชุมชน) จะมีไม่เกิน 100,000 รายเท่านั้น โดยช่วงเวลาที่เหลืออีก 2 ปีก่อนเข้าสู่ AEC กสอ.จะพยายามเข้าไปกระตุ้นให้เอสเอ็มอีภาคการผลิตตื่นตัวที่จะปรับธุรกิจตนเองให้มากสุด ซึ่งขณะนี้มีการตื่นตัวมากขึ้นกว่าอดีตมาก และเมื่อรวมกับแผนงานของส่วนอื่นๆ ก็จะทำให้เอสเอ็มอีไทยมีความเข้มแข็งจำนวนมากซึ่งจะพร้อมขยายตลาดไปประเทศเพื่อนบ้านมากตามไปด้วย
นางศมน ชคัตธาดากุล กรรมการผู้จัดการบริษัท อุดรกระจกรถยนต์ จำกัด ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีรายหนึ่งที่ได้เข้าร่วมรับบริการต่างๆ จาก กสอ.กล่าวว่า บริษัทฯ จำหน่ายและบริการติดตั้งกระจกรถยนต์ในภูมิภาคอีสาน และยังมีการนำสินค้าไปจำหน่ายลูกค้าระดับพรีเมียมใน สปป.ลาว ที่ผ่านมาเข้าอบรมทุกเรื่องเพื่อนำความรู้มาปรับการบริหารธุรกิจซึ่งก็ได้ผล
“เราไม่รู้ว่าปี 2558 จะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นการมองจุดอ่อนของตนเองแล้วเร่งปรับปรุงการบริหารงานต่างๆ ให้ดีขึ้นก็จะสามารถสู้กับคนอื่นได้ดีกว่าการที่เราไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเราเองก็ค่อนข้างกลัวจีน เพราะสินค้าของเขามีราคาถูก แต่เราเองคิดว่ามีจุดแข็งเรื่องคุณภาพ และบริการที่ดีกว่า ซึ่งเราอยากไปตั้งศูนย์ที่ลาวก่อนเปิด AEC แต่ตอนนี้ยังมีอุปสรรคเรื่องภาษีต่างๆ ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะดูจุดนี้ด้วย” นางศมนกล่าว
นายกฤษฎา บุตรเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท กฤษดาอุตสาหกรรมค้าไม้ จำกัด และในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า อุตสาหกรรมไม้แปรรูปไทยมีศักยภาพในแง่ของการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย สินค้ามีคุณภาพ แต่ยังมีปัญหาวัตถุดิบไม้ที่ไม่เพียงพอ เมื่อเข้าสู่ AEC คงต้องปรับตัวเรื่องของต้นทุนให้มาก ซึ่งยอมรับว่าค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ 300 บาทต่อวันนั้นกระทบต่อต้นทุนการผลิตของบริษัทพอสมควร รวมถึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ Ft ที่ขึ้นต่อเนื่อง ระยะสั้นหากเป็นไปได้ต้องการให้รัฐดูแลค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงจนเกินไป ส่วนระยะยาวสนใจที่จะลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้าน