กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมลงพื้นที่อยุธยากู้วิกฤตเอสเอ็มอีโรงอิฐหลังประสบน้ำท่วม หลายแห่งเผชิญปัญหาอิฐเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต กสอ.เร่งประสานสถาบันการก่อสร้างฯ ปูฐานความรู้นำเทคโนโลยีดัดแปลงอิฐเหลือทิ้งเป็นผลิตภัณฑ์กระเบื้อง สร้างมูลค่าเพิ่มดันเอสเอ็มอีขึ้นชั้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของผู้ประกอบการกลุ่มโรงอิฐที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้ “โครงการคลินิกอุตสาหกรรมเพื่อการฟื้นฟูสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย” ซึ่งพบว่ามีโรงงานอิฐมอญส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในระดับสูงถึง 2 เมตร โดย กสอ.ได้เข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโรงอิฐที่มีอยู่ในพื้นที่หลายร้อยราย และปัจจุบันกำลังประสบปัญหาทั้งเรื่องของการสูญเสียกระบวนการผลิต และความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณอิฐมอญถูกนำไปทิ้งในที่ต่างๆ และไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นจำนวนมาก
ท้ังนี้ กรมฯ ได้มีการประสานงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่ สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งมาจากการสร้างมูลค่าเพิ่มจากอิฐมอญเหลือทิ้งมาทำเป็นกระเบื้องปูพื้นมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมกับการออกแบบที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการผลิต ซึ่งจะเป็นการลดการสูญเสียและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้เป็นอย่างดี เป็นการปูฐานอุตสาหกรรมโรงอิฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีให้เกิดความเข้มแข็งสามารถขึ้นชั้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และพร้อมรับมือปัจจัยเสี่ยงและการเปิดเสรีทางการค้าในอนาคต
“ กลุ่มผู้ประกอบการโรงอิฐ กลุ่มผู้ประกอบการโรงไม้ ที่ขณะนี้เริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่สิ่งที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการส่งเสริมให้กลุ่มเหล่านี้ในระยะต่อไปคือ การให้ผู้ประกอบการ SMEs โรงอิฐมอญมีการพัฒนาศักยภาพของตนเอง และให้มีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อเกิดการเชื่อมโยงการผลิตควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้มากขึ้นในที่สุด” นายภานุวัฒน์กล่าว
นายวุฒิ มาลัยนาค ผู้ประกอบการโรงอิฐในพื้นที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัจจุบันการประกอบการโรงอิฐในพื้นที่ยังเป็นไปในรูปแบบที่ต่างคนต่างดำเนินการกันเอง ซึ่งต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างมาตรฐานให้อุตสาหกรรมโรงอิฐในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่ สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาแนะนำในด้านของเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการผลิตในโรงอิฐ โดยเฉพาะระบบการขนส่งที่ยังคงเป็นแบบเก่าที่เน้นการใช้แรงงาน แต่หากมีการปรับเปลี่ยนใหม่ที่ใช้ระบบสายพานลำเลียงจะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียระหว่างทางได้