กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลโครงการคลินิกฯ ฟื้นฟูสถานประกอบการประสบภัยน้ำท่วมเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้แล้ว 100% พร้อมเดินหน้าแผนฟื้นฟูเชิงลึกรับมือปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ ด้าน “กสอ.” เร่งเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาให้บริการ SMEs ทั่วถึง เคียงข้าง SMEs ไทย ลุยตลาด AEC
หม่อมราชวงศ์ พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ประสบภัยน้ำท่วม ภายใต้ “โครงการคลินิกอุตสาหกรรมเพื่อการฟื้นฟูสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย” ว่า จากการเข้าดำเนินการฟื้นฟูผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ประสบภาวะ น้ำท่วมอย่างเร่งด่วนในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้ผู้ประกอบการทั้งหมดสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจแล้ว 100% จากจำนวนผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจำนวน 5,664 ราย เป็นผู้ประกอบการในภาคการผลิตที่อยู่ในเกณฑ์ความช่วยเหลือในโครงการคลินิกอุตสาหกรรมฯ ที่เป็น SMEs จำนวน 3,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 34 จังหวัด
ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลวงเงิน 148 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม ปี 2555 และได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม บริษัทที่ปรึกษา และสถาบันการเงิน ฯลฯ รวมประมาณ 30 แห่ง จัดทีมที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญกว่า 500 รายเข้าปฏิบัติการฟื้นฟูสถานประกอบการในระยะแรก เช่น ตรวจสอบสถานประกอบการ ซ่อมแซมและบำรุงอุปกรณ์เครื่องจักร ฯลฯ
ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างเข้าสู่แผนฟื้นฟูฯ ในเชิงลึกที่จะมีการบริหารจัดการธุรกิจทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการตลาด เพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงและการแข่งขันในการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งมีผู้ประกอบการอยู่ในข่ายที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเชิงลึกจำนวน 1,000 ราย ล่าสุดได้ดำเนินการไปแล้ว 400 ราย คิดเป็นสัดส่วน 40% และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้จะเพิ่มจำนวนในการเข้าไปวินิจฉัยในเชิงลึกได้อีก 500 ราย คิดเป็น 50% โดยจะดำเนินการตามแผนงานครบทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคม 2555
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาให้มากขึ้น เนื่องจากขณะนี้จำนวนที่ปรึกษายังไม่เพียงพอต่อความต้องการให้บริการ SMEs ที่มีอยู่ในปัจจุบันราว 2 ล้านกว่ารายเพื่อให้บริการแก่ SMEs ได้อย่างทั่วถึง เป็นการรองรับการแข่งขันในตลาด AEC รวมถึงยังมีแนวคิดจะจัดตั้งศูนย์ศึกษาประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการทำตลาดเอสเอ็มอีของไทยในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย