xs
xsm
sm
md
lg

บะหมี่กึ่งฯ วูบสุดรอบ 5 ปี สหพัฒน์จ้องเทกโอเวอร์รับเออีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มาม่ายันไม่ขึ้นราคาขายปลีกหลังขายส่งปรับขึ้นราคาเพียงเล็กน้อย มอง AEC เป็นโอกาสส่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพุ่ง พร้อมลงทุนดันทุกกลุ่มสินค้าสู้ มั่นใจสิ้นปีส่งมาม่าเติบโต 10% ขณะที่ตลาดรวบยอดโตอาจไม่ถึง 2% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มาม่ายังไม่มีแผนในการปรับราคาขายปลีกเพิ่ม และพร้อมที่จะตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด เป็นไปได้ก็ไม่อยากปรับราคาขึ้นแต่อย่างใด ถึงแม้ในปัจจุบันต้นทุนหลักอย่างข้าวสาลีและน้ำมันปาล์มจะปรับขึ้นสูงจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ล่าสุดทางฝ่ายผลิตก็ได้มีการสั่งซื้อวัตถุดิบดังกล่าวกักตุนไว้ล่วงหน้าบ้างแล้ว โดยขณะนี้ยังคงเฝ้าระวังถึงแนวโน้มการปรับราคาสินค้าทั้ง 2 รายอย่างใกล้ชิด

จากสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีหน้า หากแบกรับไม่ไหวก็อาจจะมีการพิจารณาปรับราคาสินค้าต่อไป ขณะที่ในปีนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับราคาสินค้าแน่นอน ถึงแม้ว่าในส่วนของการขายส่งจะมีการปรับราคาขึ้น แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยไม่กระทบต่อราคาขายปลีกอย่างที่หลายฝ่ายกังวล

สำหรับภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปีนี้มองว่าไม่น่าจะโตได้ถึง 2% จากมูลค่ารวมที่ 13,000 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากปกติจะเติบโตปีละ 10% โดยมองว่าในปีหน้าจะกลับมาเติบโตที่ 10% ได้อีกครั้งตามธรรมชาติของตลาด โดยในครึ่งปีแรกที่ผ่านมานั้นตลาดรวมเติบโตเพียง 2.3%  เท่านั้น มองว่าน่าจะมาจากการที่ปลายปีก่อนผู้บริโภคมีการกักตุนสินค้าไว้ค่อนข้างมากในช่วงน้ำท่วม เลยทำให้ปีนี้ตลาดค่อนข้างนิ่ง

ขณะที่มาม่าสามารถทำรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตได้ที่ 9% กลุ่มสินค้าประเภทคัพมีอัตราการเติบโตดีที่สุด 26% แบบซองโตเพียง 3% ส่วนในครึ่งปีหลังจะต้องทำการตลาดค่อนข้างมาก หรือต้องมีการเติบโตมากถึง 18% เพื่อทำให้ภาพรวมของมาม่าตลอดปีเติบโตที่ 10% ตามแผนที่วางไว้ และยังคงรักษาความเป็นผู้นำในตลาดด้วยส่วนแบ่งกว่า 53% ไว้ได้   

นายเวทิต กล่าวต่อว่า การเปิดเออีซีในอีก 2 ปีข้างหน้า สำหรับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยไม่น่าหนักใจ เพราะมองเป็นโอกาสในการเข้าไปทำตลาดในประเทศอาเซียนมากกว่า เนื่องจากหลายๆ ประเทศเหล่านี้ชื่นชอบในรสชาติของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยอยู่ก่อนแล้ว แต่เราก็ต้องมีการพัฒนารสชาติใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ประเทศอาเซียนด้วย

ส่วนจะมีแบรนด์ต่างๆ เข้ามาในไทยมากแค่ไหนนั้น เชื่อว่าน่าจะมีหลายแบรนด์ แต่ไม่น่าหนักใจเพราะแบรนด์ไทยค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะ 3 แบรนด์หลัก ทั้งมาม่า ยำยำ และไวไว ที่ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 80-90 % อยู่แล้ว บวกกับจุดแข็งทางด้านราคาที่ค่อนข้างต่ำ เชื่อว่าไม่น่าส่งผลกระทบ ขณะที่ยอดขายในต่างประเทศของมาม่านั้น ปัจจุบันอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท ส่งออกไปยัง 20 ประเทศทั่วโลก เน้นหนักไปทางยุโรป และอเมริกา  

ทั้งนี้ บริษัทพร้อมที่จะลงทุนสำหรับการทำตลาดรับเออีซี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนขยายไลน์ผลิตสินค้าใหม่เพิ่ม โดยมองโอกาสของการลงทุนในทุกรูปแบบทั้งการเทกโอเวอร์และการลงทุนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าใหม่อย่างกลุ่มอาหารสำเร็จรูป ที่เชื่อว่าจะเป็นสินค้าที่มีโอกาสเข้ามาทำตลาดในไทยได้

กำลังโหลดความคิดเห็น