ปั้น สมายล์มิ้ลค์ เสริมแกร่งอุตสาหกรรมนมไทย หวังเป็นอีกหนึ่งหัวหอกดันไทยฮับการเลี้ยงโคนมในอาเซียน รองรับเปิดเออีซีปี 58 ผุดร้านค้าโมเดลสมายล์มิ้ลค์ 3 รูปแบบเข้าถึงผู้บริโภคแท้จริง
รองศาสตราจารย์ นพรัตน์ รุ่งอุทัยศิริ หัวหน้านักวิจัยและโครงการวิจัยและพัฒนากลไกรองรับยุทธศาสตร์ด้านการตลาดนมโคสดแท้ 100% ของประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง และมีกฎหมายด้านโคนมและผลิตภัณฑ์นม และเป็นผู้นำการเลี้ยงโคนมในเขตร้อนชื้น แต่โครงสร้างการผลิตไม่เอื้อต่อการได้ขนาดการผลิตที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะมีเกษตรกรรายย่อยถึง 80% ของฟาร์มทั้งหมด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงทำให้ผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบในประเทศมีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์จากนมผงนำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ เกษตรกรไม่สามารถสู้กับภาวะการแข่งขันได้ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากต่อการเป็นผู้นำหรือศูนย์กลาง (Hub) ของการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมอาหารนม อีกทั้งเรายังสามารถใช้กลไกการค้าเสรีไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศจีน ฯลฯ ผนวกกับในปี 2558 จะเกิดการรวมตัวในประเทศกลุ่ม ASEAN เป็นกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community - AEC) ประเทศไทยจึงยังมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมากมาย
จากข้อมูลตลาดนมโคในประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนโคนม 525,019 ตัว จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 23,400 ครัวเรือน ผลิตน้ำนมดิบในประเทศผลิตได้ 862,495 ตันต่อปี คนไทยบริโภคนมรวมทั้งสิ้นปีละ 934,674 ตัน และส่งออกถึง 93,764 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์นมถึง 168,845 ตัน มูลค่าถึง 14,573 ล้านบาท โดยเป็นนมผงขาดมันเนยถึง 50,060 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5,120 ล้านบาท
“ศูนย์บริการวิชาการฯ จึงเห็นว่าการวิจัยทางด้านการตลาดเพื่อยกระดับด้านพาณิชยกรรมและการตลาดให้อุตสาหกรรมนมไทย จะเป็นช่องทางที่จะพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรโคนมไทยและสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมฯ อย่างยั่งยืน”
ผลจากการวิจัยได้มีการดำเนินการที่มีนัยสำคัญทางการตลาด และพาณิชย์ ดังนี้ คือมีการออกเครื่องหมายรับรอง “โบทอง” ว่าเป็นนมพร้อมดื่มที่มาจากน้ำนมโคไทยเท่านั้น พร้อมกับได้ยื่นขอจดเครื่องหมายรับรองนี้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว และการออกเครื่องหมายการค้า Smile Milk ให้แก่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนมโคไทยเท่านั้น ซึ่งได้มีการจดทะเบียนไว้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วเช่นกัน
ดร.วรณิกา นาควัชระ นักวิจัยทางด้านการตลาดและการสื่อสารทางการตลาดของโครงการ กล่าวว่า ร้านค้า “Smile Milk” จะเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม และผลิตภัณฑ์นมแปรรูปต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศได้เข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เครื่องหมายการค้า “Smile Milk” จึงเป็นเครื่องหมายการค้าผลิตภัณฑ์นมแห่งชาติ หรือ “National Brand” อันทรงคุณค่า
ทางโครงการได้จัดให้มีร้านค้า “Smile Milk” ในรูปแบบต่างๆ ผู้ที่สนใจจะดำเนินธุรกิจขนาดย่อยจะสามารถเลือกได้จากความสามารถในการลงทุน พื้นที่ที่จะจัดตั้ง และกลุ่มเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 1. Smile Milk Home เป็นร้านค้าเต็มรูปแบบ มีที่นั่งใช้เนื้อที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป 2. Smile Milk Hut เป็นร้านค้ารูปแบบซื้อเพื่อนำกลับ หรือ grab and go ใช้เนื้อที่ตั้งแต่ 15-30 ตารางเมตร 3. Smile Milk Mobile เป็นร้านค้าเคลื่อนที่ สามารถจอดได้ทุกสถานที่
ขณะนี้ได้มีร้านค้าทั้ง 3 รูปแบบ เป็นร้านค้าต้นแบบ และได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว ดังนี้คือ Smile Milk Home สาขานิมมานเหมินทร์ ซอย 5 จังหวัดเชียงใหม่, Smile Milk Hut สาขาจามจุรีสแควร์ และ Smile Milk Mobile ซึ่งจอดอยู่หน้าศูนย์หนังสือจุฬาฯ สยามสแควร์
“เรามั่นใจว่า Smile Milk จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย และในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยหลักที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่อาชีพเกษตรกรรมโคนมไทยอันเป็นอาชีพพระราชทานสืบต่อไป”