แพทย์ยันนมแม่มีประโยชน์สูง ลดการเจ็บป่วยของทารก ขณะที่นมผงหากกินมากเกินไปเสี่ยงไอคิวต่ำ-เป็นโรคเพิ่ม ด้านศูนย์นมแม่ฯ เตรียมทำคู่มือให้ความรู้พ่อแม่ยุคใหม่ พร้อมหนุนร่างกฎหมายคุมการตลาดนมผง
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ในฐานะอนุกรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานประชุมวิชาการนมแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า นมแม่เป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพของเด็กไทย ซึ่งบางคนเข้าใจผิดว่านมผงมีประโยชน์มากกว่านมแม่ ทำให้คุณแม่หลงเชื่อแล้วหยุดให้นมแม่ก่อนเวลาอันควร ทั้งที่จริงแล้วการให้นมแม่แก่ทารกทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ เด็กจะแข็งแรง และลดการเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคท้องเสีย โรคทางเดินหายใจ และโรคภูมิแพ้ เป็นต้น แต่หากเด็กกินนมผงมากเกินไปจะส่งผลเสียทำให้เด็กมีระดับไอคิวน้อยกว่าเด็กที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2-11 จุด มีสติปัญญาด้อยกว่าที่ควรจะเป็น ป่วยบ่อย เนื่องจากเด็กไม่ได้รับภูมิคุ้มกัน ดังนั้น เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และต่อเนื่องด้วยนมแม่พร้อมอาหารตามวัยที่เหมาะสมจนอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่เต็มที่และสุขภาพแข็งแรง
“โลกการค้าเสรีทำให้คนมีความรู้เรื่องนมผงน้อย จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตนมผงที่ให้ข้อมูลบิดเบือนความจริงแก่ผู้บริโภค และคุณแม่ก็เชื่อว่านมผงมีประโยชน์ มีสารอาหารมากกว่านมแม่จึงหยุดให้นมแม่หันมาให้ลูกกินนมผง ซึ่งแท้จริงแล้วนมผงไม่สามารถทดแทนนมแม่ได้ ขณะที่กลยุทธ์การตลาดที่เน้นโฆษณาเพิ่มสารอาหารในนมผงเพื่อจะสื่อสารให้ผู้บริโภคเชื่อว่าสารอาหาร นั้นเป็นชนิดเดียวกับที่มีในนมแม่และมีคุณสมบัติเทียบเท่านมแม่ ซึ่งในความเป็นจริงยังต้องศึกษาต่อไปว่ามีคุณสมบัติเทียบเคียงได้จริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่รู้ และจะรู้สึกคล้อยตามการโฆษณา เพราะมั่นใจว่าลูกจะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์” พญ.สุธีรากล่าว
ด้าน พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้กรมอนามัย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNICEF) และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ให้เป็นกฎหมาย ในขั้นแรกจะจัดทำหนังสือคู่มือถามตอบประเด็นสำคัญที่ว่า ทำไมประเทศไทยจะต้องมีการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อสื่อสารให้คนไทยทราบถึงการพิทักษ์สิทธิเด็กที่ควรได้รับการคุ้มครองให้ได้รับอาหารที่เหมาะสม นั่นคือนมแม่