ปัญหาน้ำนมโคสดล้นตลาดมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเกษตรกรนำมาเททิ้งเพื่อเรียกร้องหนทางแก้ปัญหาจากรัฐบาล ดังนั้นกองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ จึงมอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยหาทางแก้ปัญหาด้านการตลาดโคนมสดของไทยอย่างถาวร ล่าสุดเปิดตัวแฟรนไชส์ Smile Milk นมสดพร้อมดื่ม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมสดของไทย
ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวแฟรนไชส์ Smile Milk อย่างเป็นทางการ ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดนมโคสดแท้ 100% ของประเทศไทย โดยได้รับมอบหมายจากกองทุน FTA กระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ นพรัตน์ รุ่งอุทัยศิริ หัวหน้านักวิจัยและโครงการวิจัยและพัฒนากลไกรองรับยุทธศาสตร์ด้านการตลาดนมโคสดแท้ 100% ของประเทศไทย เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกรชาวไทย เมื่อปี พ.ศ. 2505 และได้มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นเกษตรกรรมประเภทที่ให้มูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมากประเภทหนึ่ง จากข้อมูลตลาดนมโคในประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนโคนม 525,019 ตัว จากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 23,400 ครัวเรือน และสามารถผลิตน้ำนมดิบในประเทศผลิตได้ 862,495 ตัน ต่อปี ในขณะที่คนไทยบริโภคนมรวมทั้งสิ้น ปีละ 934,674 ตัน และส่งออกถึง 93,764 ตัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์นมถึง 168,845 ตัน ถือเป็นมูลค่าถึง 14,573 ล้านบาท โดยเป็นนมผงขาดมันเนยถึง 50,060 ตัน ถือเป็นมูลค่า 5,120 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการผลิตไม่เอื้อต่อการได้ ขนาดการผลิตที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีเกษตรกรรายย่อยถึง 80% ของฟาร์มทั้งหมด ทำให้ ต้นทุนการผลิตสูง และผลิตภัณฑ์จากน้ำนมดิบในประเทศมีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์จากนมผงนำเข้า เช่น ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถสู้กับภาวะการแข่งขันได้ และส่วนหนึ่งเลิกอาชีพพระราชทานนี้ไป
ทั้งนี้ผลจากการศึกษาวิจัยในเรื่องการตลาดได้ผลการศึกษาว่าให้มีการออกเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ นมโคสดแท้ 100% จากภาครัฐและให้มีธุรกิจแฟรนไชส์ในผลิตภัณฑ์อาหารนมแปรรูปเพื่อให้เข้าถึง ผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยผลจากการวิจัยได้มีการดำเนินการที่มีนัยสำคัญทางการตลาด และพาณิชย์ คือ มีการออกเครื่องหมายรับรอง “โบทอง” ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่รับรองว่า เป็นนมพร้อมดื่มที่มาจากน้ำนมโคไทยเท่านั้น พร้อมกับได้ยื่นขอจดเครื่องหมายรับรองนี้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว และนอกจากการออกสัญลักษณ์โบทองแล้ว ยังได้มีการวางกลยุทธ์ทางการตลาดโดยการออกเครื่องหมายการค้า Smile Milk ให้แก่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมน้ำนมโคไทยเท่านั้น ซึ่งได้มีการจดทะเบียนไว้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้วเช่นกัน
ดร.วรณิกา นาควัชระ นักวิจัยทางด้านการตลาดและการสื่อสารทางการตลาดของโครงการ กล่าวว่า ร้านค้า "Smile Milk" จะเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม และผลิตภัณฑ์นมแปรรูป ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศได้เข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เครื่องหมายการค้า "Smile Milk" จึงเป็นเครื่องหมายการค้าผลิตภัณฑ์นมแห่งชาติ หรือ "National Brand" อันทรงคุณค่า ทางโครงการได้จัดให้มีร้านค้า "Smile Milk" ในรูปแบบต่างๆ ผู้ที่สนใจจะดำเนินธุรกิจขนาดย่อยจะสามารถเลือกได้จากความสามารถในการลงทุน พื้นที่ๆ จะจัดตั้ง และกลุ่มเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ
แบบที่ 1 Smile Milk Home เป็นร้านค้าเต็มรูปแบบ มีที่นั่งใช้เนื้อที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไป ค่าแฟรนไชส์ 100,000 บาท
แบบที่ 2 Smile Milk Hut เป็นร้านค้ารูปแบบซื้อเพื่อนำกลับ หรือ grab and go ใช้เนื้อที่ตั้งแต่ 15-30 ตารางเมตร ค่าแฟรนไชส์ 80,000 บาท
แบบที่ 3 Smile Milk Mobile เป็นร้านค้าเคลื่อนที่ สามารถจอดได้ทุกสถานที่ ค่าแฟรนไชส์ 50,000 บาท
ขณะนี้ได้มีร้านค้าทั้ง 3 รูปแบบ เป็นร้านค้าต้นแบบ และได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้วดังนี้คือ Smile Milk Home สาขานิมมานเหมินทร์ ซอย 5 จังหวัดเชียงใหม่, Smile Milk Hut สาขาจามจุรีสแควร์ และ Smile Milk Mobile ซึ่งจอดอยู่หน้าศูนย์หนังสือจุฬาฯ สยามสแควร์ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค
“เรามั่นใจว่า Smile Milk จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการรายย่อย และในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยหลักที่จะสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพเกษตรกรโคนมไทยอันเป็นอาชีพพระราชทานสืบต่อไป” ดร.วรณิกา กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2218-2889 หรือติดตาม ความเคลื่อนไหวของ Smile Milk ได้ที่ www.facebook.com/smilemilkfranchise
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *