xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นปีหน้าภาคตะวันออกน้ำแล้งเหมือนปี 48 สร้างความเสียหาย 3 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.อ.ท.จับมืออีสท์วอเตอร์และภาคเอกชนเตรียมพร้อมรับมือปัญหาวิกฤตขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออก หลังพบปริมาณน้ำใน 3 อ่างเก็บน้ำที่จังหวัดระยองต่ำกว่าเกณฑ์ หากปีนี้ฝนตกท้ายเขื่อนมีโอกาสที่ปีหน้าจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำได้เหมือนปี 48 ที่สร้างความเสียหายแก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

นายธีระศักดิ์ ผดุงตันตระกูล รองประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วานนี้ (16 ก.ค.) ศูนย์ปฏิบัติการน้ำหรือวอร์รูม ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนกรมชลประทาน บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ และภาคเอกชนผู้ใช้น้ำในภาคตะวันออก ได้ร่วมหารือพิจารณาสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกซึ่งอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง หลังประเมินปลายปีนี้น้ำต้นทุนค่อนข้างต่ำและมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งปีหน้าได้เหมือนปี 2548 จำเป็นที่ภาคเอกชนจะต้องตื่นตัวและมีการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยการนำระบบ 3R มาใช้เพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้

“ในปีนี้น้ำภาคตะวันออกมีเพียงพอใช้ แต่มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำได้ในปีหน้าถ้าฝนตกทิ้งช่วง ซึ่งมีแผนจะผันน้ำจากอ่างฯ ประแสร์เข้ามาช่วย แต่ก็พบว่าปัญหาท่อส่งน้ำรั่วทำให้ต้องมีการเร่งซ่อมพร้อมกับสูบน้ำด้วย“

ในการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดชลบุรี ทาง ส.อ.ท.ได้ขอให้รัฐเร่งรัดงบประมาณภายใต้โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำจากลุ่มน้ำประแสร์-คลองใหญ่ จ.ระยอง โดยได้รับอนุมัติงบ 200 ล้านบาท

นายเจริญสุข วรรณพรรณโสภาค รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า สถานการณ์แหล่งน้ำที่ส่งจ่ายให้ประชาชนอุปโภคบริโภคและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก พบว่ามีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ต้นปีถึง ก.ค.นี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากฝนตกท้ายอ่างเก็บน้ำในจังหวัดระยอง ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำ 137.40 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 49.9% ของความจุอ่าง หากฤดูฝนนี้ฝนตกน้อยจะส่งผลให้เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำขึ้นในฤดูแล้งปีหน้าเหมือนวิกฤตน้ำขาดแคลนในภาคตะวันออกเมื่อปี 2548

ส่วนอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีปริมาณน้ำรวม 2 อ่างฯ (บางพระ และหนองค้อ) พบว่ามีปริมาณน้ำกักเก็บ 71.12 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51.4 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง จึงไม่น่ามีปัญหา

ดังนั้น สถานการณ์น้ำในปีนี้ใกล้เคียงปี 2547 ซึ่งประเมินแล้วพบว่าปีนี้ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน แต่หากฝนตกน้อยในปลายปีนี้อยู่ในระดับต่ำ และเกิดฝนตกล่าช้าออกไปทำให้ปีหน้ามีความเสี่ยงเกิดปัญหาน้ำขาดแคลนขึ้นเหมือนปี 2548 ที่สร้างความเสียหายแก่ภาคเกษตรไม่ต่ำกว่า 7.6 พันล้านบาท และภาคอุตสาหกรรมกว่า 3 แสนล้านบาท ทำให้มีความจำเป็นต้องนำน้ำจากแหล่งอื่นๆ มาเสริมเพื่อเก็บน้ำกันความเสี่ยงไว้

ในปี 2548 ที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกพบว่าความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ 190 ล้าน ลบ.ม. แต่ปีนี้ความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ 292 ล้าน ลบ.ม.เพิ่มขึ้น 100 ล้าน ลบ.ม. หรือปีนี้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีการจัดหาแหล่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำอื่นๆ เข้ามาเสริมรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประเมินโอกาสที่ปีหน้าจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเหมือนปี 48 ก็ไม่น่าจะรุนแรงเท่า แต่ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณฝนที่ตกในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ด้วย เพราะปีหน้าเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ (น้ำน้อย) อีกครั้ง ดังนั้นหากปริมาณน้ำในอ่างฯ 3 อ่างที่ระยอง ณ สิ้นปีมีปริมาณต่ำกว่า 240 ล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 137 ล้าน ลบ.ม. ก็ถือว่าเสี่ยงวิกฤตขาดแคลนน้ำแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์น้ำในปัจจุบันที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฝ้าระวัง ดังนั้นจึงได้ดำเนินการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ชลบุรี และระยอง โดยเน้นพื้นที่ต้นน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้มากขึ้น รวมทั้งลดการส่งน้ำจากพื้นที่ระยองไปชลบุรีลงวันละ 5 หมื่น ลบ.ม. และสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งพบว่าท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มีปัญหาแตกรั่วในบางจุด ทำให้บริษัทฯ ต้องมีการซ่อมแซมพร้อมกับสูบน้ำด้วย คาดว่าจะดำเนินการซ่อมแซมท่อรั่วดังกล่าวแล้วเสร็จในปลายเดือนนี้ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นวันละ 2.3 แสน ลบ.ม. ขณะที่ความต้องการใช้น้ำที่มาบตาพุดอยู่ที่วันละ 5.5 แสน ลบ.ม. พร้อมกับหารือกับกรมชลฯ เพื่อทำเอ็มโอยูให้บริษัทฯ เข้าไปดำเนินการเดินเครื่องสูบน้ำและซ่อมแซมท่อส่งน้ำ คาดใช้เงิน 100 ล้านบาทในการดำเนินการ

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะสูบน้ำจากแม่น้ำระยองด้วย โดยต้องพิจารณาคุณภาพน้ำแม่น้ำระยอง ซึ่งอาจจะกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เนื่องจากคุณภาพน้ำจะด้อยลงเพราะมีสารปนเปื้อน รวมทั้งประสานกับกรมชลประทานเพื่อสูบน้ำย้อนกลับจากฝายบ้านค่าย-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จะทำให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นวันละ 8.6 หมื่น ลบ.ม.

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออกเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2555 พบว่า ในจังหวัดระยองมีอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมีปริมาณน้ำ 76.46 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 47% ของความจุอ่าง อ่างฯ ดอกกราย มีปริมาณน้ำ 34.85 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 47.1% อ่างฯ คลองใหญ่ มีปริมาณน้ำ 24.97 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 62% อ่างฯ ประแสร์ มีปริมาณน้ำ 122.96 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 50% ส่วนจังหวัดชลบุรี พบว่าอ่างฯ บางพระมีปริมาณน้ำ 63.61 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 54.4% และอ่างฯ หนองค้อ มีปริมาณน้ำ 7.14 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 33%
/////////////////////////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น