ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ โคราชลุยตรวจภัยแล้งพร้อมช่วยเหลือประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เผยล่าสุดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งแล้ว 29 อำเภอ 2,982 หมู่บ้าน 17 อำเภอวิกฤตแล้งยกอำเภอ ราษฎรเดือดร้อนกว่า 8 แสนคน พื้นที่เกษตรประสบภัยแล้งกว่า 7 หมื่นไร่ คาดโทษข้าราชการรายงานเวอร์เจอดีแน่ ส่วนอ่างเก็บน้ำทั้งจังหวัดฯ เหลือปริมาณน้ำแค่ 50%
วันนี้ (10 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่วัดบ้านประโดก ต.หมื่นไวย อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะและรถบรรทุกน้ำ 2 คัน เดินทางลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค มีชาวบ้านเดินทางมาร้องทุกข์และรับแจกจ่ายน้ำเป็นจำนวนมาก โดยชาวบ้านให้ข้อมูลต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาว่าประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคมานานกว่า 6 เดือนแล้ว เนื่องจากน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค (จอหอ) ไม่ไหลเพราะอยู่ปลายท่อส่งน้ำ ชาวบ้านใน ต.หมื่นไวยกว่า 1,500 ครัวเรือนต้องทนทุกข์ทรมานไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค ที่ผ่านมาพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหาน้ำมาใช้ทั้งซื้อน้ำจากรถขายน้ำดื่ม และชาวบ้านช่วยกันระดมเงินเป็นค่าน้ำมันนำรถบรรทุกไปขนน้ำมาจากที่อื่น
ทั้งนี้ นายชวนได้รับปากที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยมอบหมายให้เทศบาลนครนครราชสีมาเชื่อมต่อท่อน้ำประปาเพื่อส่งน้ำให้ประชาชนได้ใช้ภายใน 1 สัปดาห์ และในช่วงที่รอการเชื่อมต่อระบบประปาให้หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนครราชสีมานำรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายให้ประชาชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีน้ำประปาใช้ สร้างความพอใจแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก
นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ล่าสุดจนถึงขณะนี้ จ.นครราชสีมา 32 อำเภอประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งแล้วรวม 29 อำเภอ 252 ตำบล 2,982 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 832,602 คน 284,968 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรประสบภัยแล้งรวม 73,326 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นา 16,339 ไร่ พื้นที่ไร่ 56,617 ไร่ พื้นที่สวน 370 ไร่ ไม่มีพื้นที่ประสบภัยในเขตชลประทาน ส่วนอีก 3 อำเภอที่ยังไม่ประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งคือ อ.โนนแดง อ.ขามทะเลสอ และ อ.บ้านเหลื่อม
สำหรับอำเภอที่ประกาศภัยแล้งทั้งอำเภอ มีจำนวน 17 อำเภอ ประกอบด้วย โนนสูง, ลำทะเมนชัย, ชุมพวง, แก้งสนามนาง, เมืองนครราชสีมา, ห้วยแถลง, โชคชัย, ประทาย, สีดา, เมืองยาง, บัวลาย, เสิงสาง, วังน้ำเขียว, ปักธงชัย, จักราช, พิมาย, โนนไทย, พระทองคำ ส่วนอำเภอที่สถานการณ์ภัยรุนแรงมากสุด ได้แก่ อ.เมืองนครราชสีมา, ชุมพวง และ อ.เทพารักษ์
นายชวนกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอำเภอต่างๆ เข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยขณะนี้ได้ใช้จ่ายเงินทดรองราชการของจังหวัดจำนวน 50 ล้านบาทให้ความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 30 ล้านบาท ทั้งการขุดลอกเปิดทางน้ำ 12 อำเภอ 25 โครงการ ทำการเป่าล้าง-ซ่อมบ่อบาดาล 8 อำเภอ และแจกจ่ายถังน้ำกลาง 7 อำเภอ ขอยืนยันว่าการรายงานสถานการณ์ภัยแล้งของโคราชเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง และได้กำชับให้ทุกภาคส่วนรายงานข้อเท็จจริง หากพื้นที่ใดรายงานตัวเลขสูงเกินกว่าความเป็นจริง หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องถูกลงโทษทางวินัย
อย่างไรก็ตาม หากดูโดยภาพรวมสถานการณ์ภัยแล้งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมายังถือว่าไม่รุนแรงมากนัก หลายพื้นที่ยังมีแหล่งน้ำเหลืออยู่ และลุ่มน้ำใน จ.นครราชสีมาทั้ง 9 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำมูลตอนบน ลุ่มน้ำลำตะคอง ลุ่มน้ำลำพระเพลิง ลุ่มน้ำลำเชียงไกร ลุ่มน้ำลำชี ลุ่มน้ำลำสะแทด ลุ่มน้ำลำมูล ลุ่มน้ำลำจักราช และลุ่มน้ำลำปลายมาศ สถานการณ์ปกติ ยังไม่เกิดความแห้งแล้งในเขตชลประทาน
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 5 โครงการ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 โครงการของ จ.นครราชสีมา ขณะนี้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ร้อยละ 50 ของความจุรวม โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำผลิตประปาหลักป้อนเมืองโคราชและหลายอำเภอ ขณะนี้มีน้ำเหลืออยู่ 147 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 184 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. แต่เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย น่าเป็นห่วง เหลือน้ำ 27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 110 ล้าน ลบ.ม.
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากนั้นคณะของนายชวนได้เดินทางไปตรวจสภาพน้ำที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พร้อมร่วมหารือในการวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือกับภาวะฝนทิ้งช่วงที่อาจเกิดขึ้นได้ในปีนี้ และหาข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลที่จะมีการเรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในเร็วๆ นี้