xs
xsm
sm
md
lg

“รมว.อุตฯ” รุดถกแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราช - ผู้ว่าฯ ของบ 4,500 ล้าน แก้ระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล  รมว.อุตสาหกรรม  เดินทางมาตรวจเยี่ยมและประชุมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา วันนี้ ( 30 ก.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “รมว.อุตฯ” ลงพื้นที่เรียกประชุมมอบนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโคราช เน้นให้ผู้ว่าฯ ทำงานแบบบูรณาการ สั่งทำแผนป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมยั่งยืน ให้ดำเนินการแล้วเสร็จใน 4 ปี ด้านผู้ว่าฯ เผย โคราชจมน้ำแล้ว 19 อำเภอ 83 ตำบล 737 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อนร่วม 80,000 คน ระบุ เสนอของบรัฐบาล 4,500 ล้าน แก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งระยะยาว

วันนี้ (30 ก.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางมาตรวจเยี่ยมและประชุมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยมี นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ส.ส. นครราชสีมา, ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8, สถานีอุตุนิยมวิทยา, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา และ หัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุมรายงานสถานการณ์

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีที่หลายพื้นที่ของประเทศไทย ประสบปัญหาน้ำท่วม รัฐบาล โดยการนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงลงพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย ซึ่งรัฐมนตรีทุกคนจะลงพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคในแต่ละพื้นที่ ก่อนรายงานรัฐบาลเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ซึ่งในส่วนของตนได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่ภาคอีสานโดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง

สำหรับวันนี้ ได้มอบนโยบายให้ผู้ว่าฯนครราชสีมา ดำเนินการวางแผนช่วยเหลือประชาชนแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยขอให้เป็นแผนงานที่สามารถทำแล้วเสร็จภายใน 4 ปี เพื่อให้ทันกับการนำไปเสนอต่อรัฐบาลชุดนี้

ด้าน นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ทางจังหวัดนครราชสีมาได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 4,500 ล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งระยะยาว เพื่อนำมาดำเนินการก่อสร้างจุดแบ่งน้ำที่ฝายละลมหม้อ ขุดลอกลำน้ำ และทำลายสิ่งกีดขวาง ทางน้ำ รวมถึงการจัดหาพื้นที่ทำแก้มลิง ซึ่งได้ขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ช่วยผลักดันงบประมาณดังกล่าวเพื่อจะได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด จากรายงานของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา พบว่า จนถึงขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุกภัยแล้วทั้งสิ้น 19 อำเภอ 83 ตำบล 737 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 78,733 คน 19,012 ครัวเรือน ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย 335 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวน 18,876 ไร่ บ่อปลา 737 บ่อ สะพานเสียหาย 3 แห่ง ท่อระบายน้ำเสียหาย 1 ท่อ ฝายเสียหาย 1 ฝาย และ ถนนได้รับความเสียหาย 76 เส้นทาง มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 14 ล้านบาท ซึ่งได้สั่งการให้นายอำเภอทุกอำเภอออกสำรวจในพื้นที่ และรายงานมายังจังหวัดเพื่อดำเนินการขอรับเงินชดเชยเยียวยา พี่น้องประชาชนจากรัฐบาลต่อไป

ส่วนแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่นั้นทางจังหวัด ได้กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง คาดการณ์และแจ้งเตือน โดยอาศัยพื้นที่ต้นลำน้ำให้ข้อมูลปริมาณน้ำฝน เช่น จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติทับลาน, หมู่บ้านต้นน้ำ, ข้อมูลน้ำฝนจากศูนย์อุทกวิทยาและการบริหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงข้อมูลน้ำในเขื่อนจากชลประทาน ร่วมกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยา แจ้งให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีทีมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากสำนักชลประทานที่ 8 ประเมินสถานการณ์ ก่อนประกาศแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ท้ายน้ำ โดยกำหนดระดับการแจ้งเตือนออกเป็น 4 ระดับคือ สีเขียว หมายถึง เหตุการณ์ปกติ, สีเหลือง หมายถึง สถานการณ์ไม่ปกติให้เฝ้าระวังเตรียมการอพยพ, สีส้ม หมายถึง สถานการณ์น้ำท่วมล้นตลิ่งน้ำล้นสปรินเวย์ มีสถานการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้น ให้อพยพ และ สีแดง หมายถึง สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรง

นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายวิทยุแจ้งเตือนภัย โดยวางเครือข่ายวิทยุชุมชน เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนอุทกภัย 5 เครือข่ายหลัก แยกเป็น เครือข่ายอำเภอเมืองนครราชสีมา ครอบคลุม 7 อำเภอ, เครือข่ายอำเภอปากช่อง ครอบคลุม 6 อำเภอ , เครือข่ายอำเภอพิมาย ครอบคลุม 6 อำเภอ, เครือข่ายอำเภอสีดา ครอบคลุม 7 อำเภอ และเครือข่ายอำเภอปักธงชัยครอบคลุม 6 อำเภอ ซึ่งคาดว่าหากเกิดสถานการณ์รุนแรงจะสามารถแจ้งเตือนและอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันท่วงที


กำลังโหลดความคิดเห็น