กาฬสินธุ์ - ชาวนาตำบลดงลิง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้องเขื่อนลำปาว หลังนาข้าวกำลังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงและขาดน้ำ ส่งผลนาข้าวกว่า 3,000 ไร่เหี่ยวแห้งตาย ขณะที่หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 9 ระบุต้องจัดระเบียบการใช้น้ำใหม่ เพื่อกระจายน้ำไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
วันนี้ (30 ก.ค.) จากการติดตามปัญหาภัยแล้งที่เกิดจากฝนทิ้งช่วงในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังคงประสบปัญหาในหลายพื้นที่แม้อยู่ในช่วงหน้าฝน เนื่องจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 3 สัปดาห์ ส่งผลให้นาข้าวของเกษตรกรหลายพันไร่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ทำให้ต้นกล้าและต้นข้าวที่ปักดำไว้กำลังแห้งเหี่ยวยืนต้นตาย โดยเฉาะในพื้นที่ ต.ดงลิง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก
ล่าสุดนายสิงห์ อรัญสาร ผู้ใหญ่บ้านดอนหวาย, นายใบ อรัญเพิ่ม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำคลองส่งน้ำสายแอล ของ ต.ดงลิง พร้อมด้วยชาวบ้านดอนหวาย บ้านดอนสวรรค์ และบ้านเมย ต.ดงลิง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กว่า 100 คน ซึ่งมีที่นาอยู่ท้ายคลองส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายสุทธิพันธ์ ตันตระกูล หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 9 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เพื่อเรียกร้องให้บริหารจัดการน้ำโดยการส่งน้ำไปให้ถึงกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ท้ายคลองด้วย เนื่องจากพื้นที่นาข้าวกว่า 3,000 ไร่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว และกำลังแห้งเหี่ยวยืนต้นตาย
นายสังคม พิมพรัตน์ อายุ 54 ปี ตัวแทนเกษตรกรบ้านดอนหวาย ต.ดงลิง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรบ้านดอนหวาย บ้านดอนสวรรค์ และบ้านเมย กว่า 100 ครอบครัวที่มีพื้นที่นาข้าวอยู่ท้ายคลองส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว สาย L กำลังเดือดร้อนหนัก ต้นกล้าข้าวนาปีที่ปักดำไว้กำลังแห้งเหี่ยวและยืนต้นตาย เพราะไม่ได้น้ำจากคลองส่งน้ำมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
กอปรกับเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 3 สัปดาห์แล้ว นาข้าวกว่า 1,200 ไร่ต้องยืนต้นตาย หากปล่อยไว้นาข้าวของเกษตรกรทั้งหมดกว่า 3,000 ไร่จะแห้งตายทั้งหมด ดังนั้นตัวแทนของเกษตรกรจึงเดินทางมายื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เพื่อให้บริหารจัดการน้ำส่งไปให้ถึงที่นาของเกษตรกรด้วย
ด้านนายสุทธิพันธ์ ตันตระกูล หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 9 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า พื้นที่นาข้าวของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมดมีประมาณ 3,000 ไร่ ส่วนสาเหตุนั้นเกิดจากปริมาณน้ำที่ส่งไปไหลไปไม่ถึงที่นาที่อยู่ท้ายคลอง เพราะถูกเกษตรกรต้นและช่วงกลางคลองดึงเอาน้ำไปใช้หมด กอปรกับเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงมานาน
ทั้งนี้ ฝ่ายส่งน้ำที่ 9 ได้นำเครื่องสูบน้ำออกไปช่วยเหลือชาวบ้านเป็นการเบื้องต้น พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราผู้ที่ลักลอบใช้น้ำไม่เป็นไปตามกติกา ซึ่งพบว่ามีเกษตรกรบางรายลักลอบสูบน้ำในเวลากลางคืน จึงทำให้น้ำในคลองไหลไปไม่ถึงที่นาเกษตรกรที่อยู่ท้ายคลอง ดังนั้นการแก้ปัญหาจะจัดแบ่งวันการใช้น้ำอย่างชัดเจน
โดยวันจันทร์-พุธ จะอนุญาตให้เกษตรกรอยู่ต้นคลองได้ใช้น้ำก่อน ส่วนวันพฤหัสบดี-อาทิตย์ จะอนุญาตให้เกษตรกรที่อยู่ท้ายคลองได้ใช้น้ำ พร้อมกับจัดกำลังออกตรวจทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ป้องกันลักลอบใช้น้ำเพื่อกระจายน้ำไปให้ทั่วถึง