xs
xsm
sm
md
lg

ครัวระทม! รัฐบาลไม่ถอย “โต้ง” สั่งลุยขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม อ้างถูกบิดเบือนมานาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง (แฟ้มภาพ)
“โต้ง” ยันรัฐบาลเอาแน่ ขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม เหตุต้องปล่อยให้เป็นไปตามราคาตลาดโลก หลังรัฐบาลก่อนอุดหนุนไว้นานจนบิดเบือน “พาณิชย์” แนะให้ขึ้นภาคขนส่งและอุตสาหกรรมก่อนเพราะกระทบไม่มาก พร้อมเบรกพ่อค้าอย่ามั่วนิ่มขึ้นจานด่วน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนเพื่อให้ราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก หลังจากรัฐบาลที่ผ่านมาได้อุดหนุนเป็นเวลานานจนทำให้ราคาของไทยบิดเบือน โดยการปรับขึ้นจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ปรับขึ้นครั้งเดียวจนเต็มเพดานเพราะจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ส่วนในวันที่ 16 ส.ค.ที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นราคาไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน แต่เป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจปรับขึ้นหรือไม่ก็ได้เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบรอบด้าน

“ต้องปรับขึ้นราคาแอลพีจีเพื่อทำให้ราคาในประเทศเป็นไปตามราคาตลาดโลก เพื่อที่รัฐบาลจะได้ไม่ต้องอุดหนุนอีกต่อไป แต่การจะให้ขึ้นต้องพิจารณาตามความเหมาะสม โดยต้องไม่กระทบกับประชาชนผู้ใช้ก๊าซมากเกินไป และต้องไม่กระทบกับภาวะเงินเฟ้อในประเทศ หากเงินเฟ้อในภาพรวมต่ำไม่พอก็จะยังไม่ปรับขึ้น แต่ถ้าเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์เหมาะสม คือ เงินเฟ้อพื้นฐานที่ตัดสินค้าอาหาร และพลังงานออกจากการคำนวณ หากยังอยู่ในเป้าที่ตั้งไว้ 0.5-3.0% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปไม่เกิน 1.5-4.5% ถ้าหลุดจากกรอบนี้ต้องควบคุม” นายกิตติรัตน์กล่าว

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หากรัฐบาลจะขึ้นราคาแอลพีจีจะต้องขึ้นแบบทยอยปรับขึ้นจนถึงราคาเพดานที่ต้องการ รวมถึงต้องพิจารณาผลกระทบให้รอบด้านก่อน เพราะหากขึ้นในทันทีจะเป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพของประชาชน และอาจทำให้เงินเฟ้อในปีนี้เกินเป้าหมายได้ เนื่องจากภาคครัวเรือนมีการใช้ก๊าซหุงต้มคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 54.36% ของปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มทั้งหมดต่อเดือนที่ 449.60 ล้านกิโลกรัม (กก.) หรือประมาณ 244 ล้าน กก. ขณะที่ภาคขนส่งมีสัดส่วน 19.69% หรือประมาณ 88.5 ล้าน กก.ต่อเดือนเท่านั้น ส่วนปิโตรเคมี สัดส่วน 14.71% ปริมาณ 66.11 ล้าน กก. อุตสาหกรรม สัดส่วน 11.24% ปริมาณ 50.54 ล้าน กก. รวมปริมาณการใช้ทั้งหมด 449.60 ล้าน กก.ต่อเดือน

”ถ้าต้องปรับขึ้น อยากให้รัฐบาลปรับขึ้นในภาคที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดก่อน เช่น ภาคขนส่ง หรือในภาคอุตสาหกรรม เพราะมีการใช้น้อยกว่าภาคครัวเรือน”
กำลังโหลดความคิดเห็น