หอการค้าโพลเผยคนเข้าไม่ถึงมาตรการดูแลราคาสินค้าเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ ยอมรับไม่รู้ว่า “ร้านธงฟ้า-ร้านถูกใจ” อยู่ที่ไหน แนะรัฐแทรกแซง-ตรึงราคาสินค้า เพราะค่าครองชีพในปัจจุบันสูงเกินกว่ารายได้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจการประเมินผลมาตรการดูแลราคาสินค้าของรัฐบาลที่สำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ 1,205 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 โดยระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 54.4% ระบุราคาสินค้าในปัจจุบันสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ประชาชน 37.5% ระบุว่าเท่าเดิม และอีก 8.2% ระบุลดลง ส่งผลให้ผู้ตอบสูงถึง 61.6% ระบุว่ามีรายได้ไม่พอรายจ่าย
ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความพึงพอใจมาตรการขอความร่วมมือภาคเอกชนในการตรึงราคาสินค้านาน 4 เดือนนั้น ผู้ตอบมากถึง 70.9% ระบุพอใจปานกลาง ส่วน 16% ระบุพอใจมากถึงมากที่สุด และอีก 12.8% ระบุพอใจน้อยถึงน้อยมาก โดยมีเพียง 0.3% เท่านั้นที่ระบุว่าไม่พอใจเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อครบเวลา 4 เดือนแล้ว ผู้ตอบส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้ประกอบการตรึงราคาต่อไป
เมื่อถามว่ารู้จักนโยบายเหล่านี้หรือไม่ ทั้งร้านอาหารธงฟ้า, มหกรรมธงฟ้าลดค่าครองชีพ, มาตรการออกราคาแนะนำ, ร้านถูกใจ, การคุมราคาสินค้า และการคุมราคาข้าวแกงนั้น ผู้ตอบส่วนใหญ่ระบุว่ารู้ แต่เคยใช้บริการน้อยถึงไม่เคยใช้ ส่วนผู้ที่เคยใช้บริการนั้นจะมีความพึงพอใจในระดับน้อยถึงปานกลาง เพราะส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนและไม่มีการประชาสัมพันธ์ ดังนั้นจึงต้องการให้กระทรวงพาณิชย์แทรกแซงราคาสินค้าให้มากขึ้น ขณะที่บางส่วนต้องการให้ดูแลอยู่ห่างๆ และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด รวมถึงผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายเอง
“ประชาชนส่วนใหญ่พอใจกับมาตรการดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ในระดับน้อยถึงปานกลางเท่านั้น เพราะไม่รู้ว่ามาตรการเหล่านี้อยู่ที่ไหน จากการขาดประชาสัมพันธ์ ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มมีรายได้น้อยเข้าไม่ถึง เช่น งานธงฟ้า, ร้านถูกใจ ซึ่งถ้าคะแนนเต็ม 10 จะให้คะแนนกระทรวงพาณิชย์ 7 คะแนน โดยถือว่าเป็นมาตรการที่ออกมาใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะขณะนี้จนถึงสิ้นปีเศรษฐกิจไทยยังต้องการการกระตุ้นการบริโภคภายในจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง รวมถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และภาวะน้ำท่วมเมื่อปลายปีก่อน” นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์กล่าวว่า มาตรการดูแลราคาสินค้าดังกล่าวถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการบริโภคให้ประชาชน ไม่ใช่เป็นการแทรกแซงทั้งระบบจนทำให้ภาคเอกชนเดือดร้อน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้อยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 3.3-3.8% ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลงได้อีก 0.5% เพื่อเอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้