“พลังงาน” เปิดตัวโครงการ VA อนุรักษ์พลังงานรูปแบบสมัครใจ เผย “รัฐ-เอกชน” จำนวนกว่า 70 แห่งร่วมปักธง VA เพื่อแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมแบบเป็นทางการ ส่วนโครงการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้ชะลอจ่ายคูปองส่วนลด 2 พันบาทแล้ว เพื่อรอ สตง.สรุปใช้งบประมาณผิดไปจากวัตถุประสงค์หรือไม่
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดตัวเครือข่ายโครงการรณรงค์การอนุรักษ์พลังงานรูปแบบสมัครใจ (Voluntary Agreement) โดยเชิญกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 โดยล่าสุดมีเอกชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 70 บริษัท เป็นอาคารสำนักงานกว่า 1,380 แห่ง และโรงงานอีก 42 โรงงาน คาดว่าจะเกิดการขยายผลด้านการอนุรักษ์อย่างจริงจัง รวมทั้งเกิดการสร้างกระแสการรณรงค์การอนุรักษ์พลังงานไปยังประชาชน
สำหรับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ เบื้องต้นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานมั่นใจว่าจะสามารถสร้างเวทีความร่วมมือด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระตุ้นให้เกิดกระแสความสนใจการอนุรักษ์พลังงานในระยะยาว จะเกิดเครือข่ายการให้คำปรึกษา หรือความช่วยเหลือเพื่อลดใช้พลังงาน
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง และช่วยให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ได้ข้อมูลทั้งด้านแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีต่างๆ ในการลงทุนกิจการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน
ที่สำคัญทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถลดต้นทุนด้านพลังงาน ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น แถมยังได้ช่วยชาติประหยัดงบประมาณอีกด้วย ซึ่งทั้ง 70 บริษัทใช้ไฟฟ้ารวมกันประมาณ 7,000 ล้านหน่วยต่อปี หากประหยัดได้ร้อยละ 10 จะประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 600 เมกะวัตต์
ส่วนความคืบหน้าการจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการคูปองส่วนลด 2,000 บาท ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานเบอร์ 5 นายไกรฤทธิ์ยอมรับว่าได้ชะลอการจ่ายเงินไปก่อน เนื่องจากต้องรอให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สรุปผลการตรวจสอบโครงการดังกล่าวว่ามีการใช้งบประมาณผิดไปจากวัตถุประสงค์หรือไม่ หลังจากที่ พพ.ได้ส่งหนังสือชี้แจง สตง.ไปแล้ว ซึ่งยืนยันว่าโครงการดังกล่าวมีการใช้เงินสอดคล้องกับเงื่อนไขในการจัดซื้ออุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง
ทั้งนี้ พพ.มียอดจ่ายคูปองทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 1,800 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการนำมาแลกสิทธิ์เป็นมูลค่า 1,300 ล้านบาท โดยมีการตรวจสอบเอกสารใบคูปองแล้วเป็นมูลค่า 500 ล้านบาท และจ่ายเงินไปแล้วจำนวน 300 ล้านบาท ที่เหลืออีกกว่า 100 ล้านบาทต้องหยุดชะงักลงตามคำสั่ง สตง.