เปิดร่างยกเลิกการใช้แร่ใยหิน รัฐวางกรอบระยะเวลาเลิก 3-5 ปีใน 5 ผลิตภัณฑ์ กำหนดเวลาภายในปีที่ 3 ให้เลิกใช้สำหรับกระเบื้องยาง กระเบื้องแผ่นเรียบ ขณะที่กระเบื้องมุงหลังคา ท่อน้ำซีเมนต์ ผ้าเบรก คลัตช์ ให้เลิกใช้ภายใน 5 ปี ด้านเอกชนฟัดกันนัวยังเห็นต่าง
นายจักรกฤษณ์ ศิวะเดชาเทพ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้จัดการโครงการจัดทำร่างแผนการยกเลิกการนำเข้า การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เปิดเผยภายในการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นวันที่ 4 ก.ค. 55 ว่า ผลการศึกษาได้วางกรอบเวลาลด และเลิกใช้ใน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเบื้องยางปูพื้น กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องมุงหลังคา ท่อแรงดันสูง หรือท่อน้ำซีเมนต์ใยหิน และผ้าเบรก คลัตช์ เนื่องจากเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบมากและถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนมากสุด โดยวางกรอบเวลาในการเลิกภายใน 3-5 ปี
ได้แก่ 1. กระเบื้องยางปูพื้นให้เวลาพัฒนา 1-2 ปี ปีที่ 3 ให้ยกเลิกการใช้เพราะมีบางรายยกเลิกใช้แล้ว 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์กระเบื้องแผ่นเรียบ มีหลายโรงงานเลิกใช้แร่ใยหินไปแล้ว จึงกำหนดระยะเวลาปรับตัวเช่นเดียวกับกลุ่มแรก 3. กระเบื้องมุงหลังคา มีผู้ผลิตยกเลิกการใช้ไปแล้ว 2-3 ราย กลุ่มนี้กำหนดคือปีที่ 3 ให้เลิกใช้ในกระเบื้องลอนใหญ่ ส่วนกระเบื้องลอนเล็กให้เลิกในปีที่ 5
4. ท่อน้ำแรงดันสูง หรือท่อซีเมนต์ใยหิน ยังไม่มีโรงงานใดยกเลิกการใช้เลย ดังนั้นจึงกำหนดการเลิกใช้เป็นขั้นบันได ได้แก่ 1-2 ปีให้ลดการใช้ลง 25% ปีที่ 3 ลดการใช้ 50% ปีที่ 4 ลดการใช้ 75% และปีที่ 5 ต้องลดการใช้ 100% และ 5. กลุ่มผลิตภัณฑ์เบรกและคลัตช์ ภายใน 2 ปีจะต้องยกเลิกใช้แร่ใยหินในผ้าเบรกและคลัตช์ในรถจักรยานยนต์ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และปีที่ 5 รถโดยสารขนาดใหญ่หรือผู้ผลิตทุกรายต้องเลิกใช้
นายสมเกียรติ์ วงมาเจริญสิน ผู้อำนวยการสายธุรกิจหลังคา บริษัทมหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ ผู้ผลิตหลังคาตราห้าห่วง กล่าวว่า บริษัทเลิกใช้แร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 25554 แต่การศึกษากลับบอกว่าให้ยกเลิกในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงมองว่าต้องการจะช่วยผู้ที่ยังไม่ยอมเลิก ส่วนกลุ่มที่เลิกใช้โดยสมัครใจไม่เคยมีมาตรการสนับสนุน
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลใดที่รัฐจะต้องเลื่อนการยกเลิกใช้แร่ใยหินเพราะต่างประเทศก็มีการยกเลิกใช้แล้วเพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพ และที่ผ่านมาก็มีข้อตกลงในกลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ว่าจะเลิกใช้ใน 5 ปี หลายรายได้ยกเลิกไปแล้วและปีนี้ก็ครบ 5 ปีตามข้อสัญญาที่ให้กันไว้
นายอุฬาร เกรียวสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท กระเบื้องโอฬาร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการยกเลิกใช้ น่าจะให้ตลาดเป็นผู้ตัดสิน เพราะปัจจุบันมีการติดฉลากอยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์ไหนเลิกใช้แล้ว หรือยังใช้ แต่ประชาชนก็ยังเลือกซื้อกระเบื้องโอฬารมากอยู่ และหากกำหนดให้เลิกบริษัทคงต้องเลิกกิจการ จึงต้องการให้ศึกษาอย่างชัดเจนเพราะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค