“ชัจจ์” สั่ง ร.ฟ.ท.ชงแผนมักกะสันคอมเพล็กซ์ หารือ สศช.-สคร.ให้เรียบร้อยใน 2 เดือนก่อนดันเข้า ครม.เห็นชอบ ตั้งเป้า ต.ค.เปิดหาประมูล ฟุ้งนักลงทุนจีน-ตะวันออกกลางพร้อมหอบเงิน 3 แสนล้านลงทุน พร้อมเร่ง ร.ฟ.ท.ย้ายโรงซ่อมมักกะสันไปแก่งคอยและศรีราชา ภายใน 1 ปี
พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือกับผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทที่ปรึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสัน (มักกะสันคอมเพล็กซ์) วันนี้ (2 ก.ค.) ว่า ได้เร่งรัด ร.ฟ.ท.ให้เสนอแนวทางการพัฒนามายังกระทรวงคมนาคมเพื่อนำหารือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เพื่อให้ความเห็นภายใน 2 เดือน โดยตั้งเป้าเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนกันยายนเพื่อเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการพัฒนาโครงการในเดือนตุลาคมนี้
โดยจากผลการศึกษาผ่านมา 8 ปีแล้วพบว่าที่ดินบริเวณมักกะสันจะนำมาพัฒนารวม 497 ไร่ แบ่งเป็น 4 โซน คือ โรงแรม ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน, ศูนย์จัดการประชุมขนาดใหญ่, โรงพยาบาลที่สามารถรองรับต่างชาติได้ และศูนย์การค้า มูลค่าที่ดินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท มูลค่าการลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจากจีน ตะวันออกกลาง เกาหลี ที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แสดงความสนใจจะเข้ามาพร้อมกับเงินทุน
“รูปแบบจะเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอการพัฒนาโครงการทั้งหมด ทั้งการออกแบบ ก่อสร้าง และค่าตอบแทนให้ ร.ฟ.ท. โดย ร.ฟ.ท.จะกำหนดเงื่อนไขในประเด็นหลัก เช่น ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีการก่อสร้างถนนรองรับการจราจรทั้งภายในและภายนอกโดยรอบโครงการ, มีสัญลักษณ์หรือแลนด์มาร์กของโครงการ โดยจะเลือกข้อเสนอที่ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งหลักคิดควรเป็นผู้ลงทุนรายเดียวทั้งโครงการเพื่อสะดวกในการจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องกัน และรูปแบบโครงการมีความเป็นเอกลักษณ์ แต่สามารถแบ่งการลงทุนเป็นเฟสได้ เชื่อว่าจะมีผู้สนใจแม้จะมีวงเงินลงทุนสูงถึง 3 แสนล้านบาทก็ตาม” พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าว
นอกจากนี้ได้เร่งรัดให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการย้ายโรงซ่อมมักกะสันออกจากพื้นที่ให้เรียบร้อยภายใน 1 ปี โดยจะมีการก่อสร้างโรงซ่อมใหญ่พร้อมบ้านพักพนักงาน 2 แห่งที่แก่งคอยและศรีราชา และโรงซ่อมย่อยที่ภาชีและเชียงราก โดยจะใช้เงินลงทุนภายใต้งบปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ร.ฟ.ท. 1.7 แสนล้านบาท และจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรของรถไฟให้สามารถประกอบหัวรถจักรได้เองในอนาคตโดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่จะมีมากขึ้นด้วย