xs
xsm
sm
md
lg

ทุนมีเดียจี้ถาม กสทช. “วิธีจ่าย-มูลค่า” ไลเซนส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.วิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หวังสร้างความเข้าใจต่อการประมูลช่องรายการและการใช้คลื่นความถี่ของวิทยุโทรทัศน์ จัดเสวนา ดึง “พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์” ประธาน กสท. ร่วมแจง ด้านเอกชนยังสงสัยมูลค่าและวิธีการจ่ายในการประมูล

วันนี้ (28 มิ.ย.) สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ได้จัดเวทีเสวนาขึ้น ในหัวข้อ “สร้างความเข้าใจในการประมูลช่องรายการและการใช้คลื่นความถี่ของวิทยุโทรทัศน์” โดยมี พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธาน กสท. เป็นวิทยากร  

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้ารับฟังในครั้งนี้ครอบคลุมในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกิจการวิทยุโทรทัศน์ ได้แก่ ตัวแทนจากทางช่อง 9, ช่อง 7 ช่อง 5 และช่อง 3 รวมไปถึงเอเยนซีโฆษณา

นางจำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์  กล่าวว่า ตามแผนการดำเนินงานของ กสทช.ที่กำหนดเวลาเหลืออีกแค่ 6 เดือนที่จะเปิดให้ประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการช่องรายการและการใช้คลื่นความถี่ของวิทยุโทรทัศน์นั้น แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจและความชัดเจนของการเตรียมตัวต่างๆ เพื่อรับมือกับการประมูลครั้งนี้ ทางสมาพันธ์ฯ จึงได้จัดงานเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการและเตรียมพร้อมได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ในช่วงของการเสวนา พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธาน กสท. และในฐานะวิทยากร ได้พูดถึงเรื่องของทีวีดิจิตอลว่า รูปแบบของการแบ่งกิจการวิทยุโทรทัศน์ในครั้งนี้แบ่งออกได้เป็น 4 แบบ คือ 1. ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน อำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เรียกว่า Infrastructure Provider 2. ผู้ให้บริการโครงข่าย หรือ Network Provider 3. ผู้ให้บริการคลื่นความถี่ หรือ Frequency Spectrum 4. เจ้าของช่องรายการ หรือ Service Provider และในอนาคตยังจะมี 5. บริการประยุกต์ หรือ Application Provider  
ซึ่งทั้ง 4 รูปแบบนี้ต้องมีการขอใบอนุญาตก่อน ถือเป็นโอกาสทั้งของผู้ประกอบการรายเดิม และรายใหญ่ที่มีโอกาสเป็นผู้ให้บริการด้านโครงข่ายพื้นฐาน หรือให้เช่าเวลา ส่วนรายกลางมีโอกาสเป็นผู้ได้ทำช่องรายการ สำหรับรายเล็กก็มีโอกาสในการเช่าเวลาทำรายการ ตามลำดับ โดยเบื้องต้นมุ่งใช้ทรัพยากรเดิมที่มีอยู่เป็นหลัก  ซึ่งขณะนี้ตามกระบวนการทำงานในการร่างประกาศหลักการการออกใบอนุญาตเรียบร้อยแล้วกว่า 90% น่าจะออกใบอนุญาตได้ และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะเปิดทีวีดิจิตอลได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจำนวนช่องของทีวีดิจิตอลนั้นขณะนี้กำลังให้ 2 มหาวิทยาลัยสำรวจถึงความเหมาะสมอยู่ว่าควรจะออกมาที่ตัวเลขใด แต่ตามข้อมูลศึกษา สมมติว่าทีวีดิจิตอลเมืองไทยทำได้ 50 ช่อง เบื้องต้นจะแบ่งออกเป็น ทีวีสาธารณะ 15 ช่อง และเป็นภาคธุรกิจเชิงพาณิชย์ 35 ช่อง และเมื่อแยกเป็นแบบระบบเอชดีแล้ว จะมีช่องสาธารณะ 1 ช่อง และพาณิชย์ 5 ช่อง ส่วนระบบสแตนดาร์ดจะมีทีวีสาธารณะ 14 ช่อง และพาณิชย์ 30 ช่อง
 
พันเอก ดร.นทีกล่าวถึงข้อสงสัยที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการทราบถึงจำนวนเงินที่ต้องเตรียมไว้สำหรับการประมูลขอใบอนุญาตทั้ง 4 แบบนี้ด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนในการประมูล แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นไปตามแนวทางสากล
โดยความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าทีวีดิจิตอลน่าจะมีต้นทุนในการประมูลครั้งนี้เท่ากับ 10% ของระบบทีวีแอนะล็อก และทีวีดาวเทียม มีต้นทุนที่ 10% ของทีวีดิจิตอล

ทั้งนี้ สำหรับตัวเลขต้นทุนดังกล่าว นางจำนรรค์กล่าวว่าเป็นราคาที่รับไหว แต่ต้องดูถึงระบบการชำระเงินเป็นหลัก ถ้าแบ่งจ่ายเชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่พร้อมประมูลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น