xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ซัดการเมืองบั่นทอน ศก.ไทย “เออีซี” ผวาใช้เงินสกุลเดียวซ้ำรอยวิกฤตหนี้ยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ธปท. ชี้ ปัญหาการเมือง ภัยร้ายบั่นทอน ศก.ไทย เอกชนยังเป็นจุดแข็งขับเคลื่อน ศก. เผย “จีดีพี” ไตรมาส 1 โตได้ดีเกินคาด ทั้งการลงทุน-การใช้จ่ายใน ปท. แม้การเบิกจ่าย รบ.ล่าช้า “ส่งออก” ยังชะลอตัว จับตา 2 พ.ค.นี้ กำหนดทิศทาง ดบ.นโยบาย “ประสาร” เผย “เออีซี” หวั่นการใช้เงินสกุลเดียว ซ้ำรอยวิกฤตหนี้ยุโรป ผวาทำ ศก.อาเซียนป่วน

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงปัญหาสำคัญที่บั่นทอนเศรษฐกิจไทย โดยยอมรับว่า การเมืองเป็นปัจจัยต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้นโยบายต่างๆ และกฎหมายสำคัญไม่มีความต่อเนื่อง ทั้งยังไม่มีการลงทุนอย่างจริงจังของภาครัฐ ส่งผลให้การลงทุนของไทยต่ำมาก เพียง 21% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน 16% ส่วนรัฐมีการลงทุนเพียง 5% เท่านั้น ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยยังเป็นลักษณะการรับจ้างผลิต

อย่างไรก็ตาม ไทยมีจุดแข็งจากภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นตัวนำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนโยบายการเงินการคลังยังเอื้อที่จะกระตุ้นการขยายตัว ดังนั้น ถ้าอยากเห็นจีดีพีโต 7% เราก็ต้องปรับเครื่องยนต์ จะอัดแต่เงินไม่ได้ อยากให้เศรษฐกิจวิ่งเร็วโดยที่เครื่องยนต์ไม่พัง ก็ต้องมีการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนก็จะเกิดขึ้นได้ นักลงทุนต่างประเทศมั่นใจ

นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภคและการลงทุน แม้จะเป็นผลจากการซ่อมแซมความเสียหายจากอุทกภัยในไตรมาส 4 ปี 2554 ก็ตาม แต่ยังเห็นสัญญาณความต้องการลงทุนจากทั้ง 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐยังมีความล่าช้าของการเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่าย แต่จะดีขึ้นในระยะต่อไป ส่วนการส่งออกซึ่งชะลอตัวลงจากผลกระทบจากภาคการผลิตที่ล่าช้าจากปัญหาน้ำท่วม แต่ทั้งหมดถือว่าเป็นไปตามที่ ธปท.ได้คาดการณ์ไว้

นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปยังเป็นปัจจัยที่ ธปท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 นี้ ใช้เป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจต่อการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันทรงตัวที่ระดับ 3.00% ต่อปี

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า โจทย์ของภาคการเงินได้แบ่งเรื่องสำคัญออกเป็น 4 ด้านใหญ่ คือ 1.ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ 2.การเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งจะพยายามลดข้อจำกัดการเคลื่อนย้าย 3.การให้บริการทางการเงิน และ 4.การพัฒนาตลาดทุนเชื่อมโยงเงินออมกับเงินลงทุน

หากทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวทำได้จริงแล้ว ท้ายที่สุด ระยะยาวเราจะยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง คือ การเชื่อมระหว่างเงินออมกับเงินลงทุนที่ใช้กันในภูมิภาค ลดการพึ่งพาแหล่งอื่นๆ นี่คือเรื่องของตลาดทุน ถ้าเราพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียน หรืออาเซียนบวก 6 ได้ ก็จะทำให้มีความยั่งยืน

ขณะที่ภายใต้กรอบเออีซียังไม่มีแนวคิดใช้เงินสกุลเดียวกัน หรือไม่เคยมีแนวคิดจะไปในลักษณะที่สหภาพยุโรปดำเนินการ เพราะอาจเกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต้องทำให้อาเซียนมีระบบภาษี ระบบการคลังรวมกันด้วยเพื่อให้ไปด้วยกันได้ แต่หากมีสกุลหนึ่งใดโดดเด่นขึ้นมาในเอเชีย แล้วสกุลเงินอื่นๆ ไปอิงเป็นสกุลหลัก ไม่ใช่ไปผูกติดแนวทางนี้ก็เป็นอีกเรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น