xs
xsm
sm
md
lg

แผน5ปีธปท.คนไทยอยู่ดียั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เปิดแผน “ยุทธศาสตร์แบงก์ชาติ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย” ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี55-59) "ประสาร" ชู 9 ด้านนำไปสู่จุดหมาย ทั้งเร่งประสานนโยบายของ ธปท.ให้สอดคล้องกับนโยบายมหภาคอื่น ดูแลกลไกค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรีมากขึ้น เพิ่มรายได้จากเงินทุนสำรองฯ สร้างระบบสอดส่องดูแลความเสี่ยงของระบบการเงิน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์แบงก์ชาติ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย ซึ่งเป็นแผนช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า (ปี 55-59) โดยธปท.มองว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยถูกบีบทั้งจากประเทศที่มีรายได้ต่ำที่มีค่าแรงถูกและมีทรัพยากรค่อนข้างมาก ขณะที่ประเทศร่ำรวยก็ที่มีเทคโนโลยีที่ดีกว่า พร้อมกันนี้โครงสร้างเศรษฐกิจกำลังเปลี่ยนแปลงไปทำให้ธปท.ได้วางแนวทางยุทธศาสตร์ 9 ด้าน เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ตลอดจนสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์แรก คือ การประสานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน กล่าวคือ ธปท.จะประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ให้นโยบายสนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน ยุทธศาสตร์ที่สอง คือ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะดูแลให้ค่าเงินปรับตัวตามกลไกตลาดมากขึ้นและมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีมากขึ้น ฉะนั้นมองว่าควรสร้างให้ระบบตลาดการเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยในแง่ของการแข่งขันทางธุรกิจและช่วยลดภาระของ ธปท.ในการดูแลค่าเงิน

สำหรับยุทธศาสตร์ที่สาม ด้านบริหารจัดการเงินสำรองทางการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยธปท.จะเพิ่มประเภทสินทรัพย์การลงทุนในทุนสำรองฯ ให้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่ความเสี่ยงไม่เพิ่มจนเป็นอันตราย ขณะเดียวกันพัฒนาบุคลากรและองค์กรให้เป็นมืออาชีพและทัดเทียมระดับสากล ส่วนยุทธศาสตร์ที่สี่ ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งมองว่าเป็นด้านหนึ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันธุรกิจสถาบันการเงินมีการเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆ ค่อนข้างมาก จึงควรเพิ่มศักยภาพในการสอดส่องดูแลความเสี่ยงเชิงระบบให้มีมากขึ้น พร้อมทั้งร่วมมือกับองค์กรกำกับดูแลอื่นด้วย

ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ห้า ด้านการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยธปท.เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการทางการเงินของรากหญ้า และผู้ด้อยโอกาสทางการเงิน รวมทั้งสถาบันการเงินของไทยจะต้องแข่งขันได้ภายใต้แนวโน้มของภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ด้านยุทธศาสตร์ที่หก คือ ด้านระบบชำระเงิน

โดยจะมีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการจัดการเงินสด พร้อมกันนี้จะเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ เช่น การชำระเงินผ่านอาเซียน 10 ประเทศที่จะรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน และการชำระเงินข้ามประเทศเพื่อการค้า เช่น การชำระเงินหยวนกับการค้าของจีน เป็นต้น

ส่วนยุทธศาสตร์ที่เจ็ด ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ถือเป็นด้านใหม่ที่ธปท.ให้ความสำคัญมากขึ้น โดยคาดว่าในช่วงเดือนม.ค.นี้จะเปิดศูนย์ให้ความคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ซึ่งจะสร้างระบบข้อร้องเรียนการให้บริการทางการเงินต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับความเป็นธรรม

นอกจากนี้ในยุทธศาสตร์อีก 2 ด้านที่เหลือจะเกี่ยวข้องภายในธปท.โดยตรง โดยในยุทธศาสตร์ที่แปดจะเป็นด้านการสื่อสาร ซึ่งมองว่าหัวใจสำคัญ คือ สร้างความมั่นใจให้แก่ระบบมากขึ้น โดยผ่านการสร้างแบรนด์ของธปท.ให้เข้าใจการทำงานและแนวคิดของธปท.จากข้อมูลเศรษฐกิจนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ประสบการณ์ของผู้ตรวจสอบสถาบันการเงิน วัฒนธรรมความคิด และการสื่อสารไปยังบุคคลภายนอก และยุทธศาสตร์สุดท้าย ด้านทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร เพื่อสร้างคนธปท.ให้มีเป็นมืออาชีพที่มีความรอบรู้ และมีทักษะในการบริหารงานให้สัมฤทธิ์ผล.
กำลังโหลดความคิดเห็น