สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.สุดคึกคัก 3 รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. 2 คนนอก “ประภัสร์” เซ็นลาออกจากผู้ช่วย รมต.คมนาคมยื่นสมัครวันสุดท้าย เผยกระแสพนักงานเอาด้วยคนนอก ส่วนในหนุน “กมล” ขณะที่ “ยุทธนา” วาง “ภากรณ์” เป็นทายาท ด้าน “ชัจจ์” เผยสเปกต้องบริหารเก่งทั้งงานและบุคลากร ชี้คนรถไฟต้องได้รับการพัฒนา “ประภัสร์” เผยปัญหารถไฟท้าทาย
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากที่ ร.ฟ.ท.ได้เปิดรับสมัครสรรหาผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.คนใหม่ตั้งแต่วันที่ 11-25 มิถุนายน 2555 ปรากฏว่ามีผู้ยื่นสมัครทั้งสิ้น 5 ราย คือ 1. นายกฤต ธานิศราพงศ์ 2. นายกมล ตั้งกิจเจริญชัย รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน 3. นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน 1 และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (แอร์พอร์ตลิงก์) 4. นายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กลุ่มยุทธศาสตร์และอำนวยการ 5. นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งนายประภัสร์มายื่นใบสมัครวันสุดท้ายพร้อมกับใบลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วย รมต.ด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ที่มี พล.ต.สันติ วิจักขณา เป็นประธาน จะประชุมในวันที่ 28 มิถุนายนนี้เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครทั้ง 5 ราย โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนด้านคุณสมบัติ 50 คะแนนและด้านวิสัยทัศน์อีก 50 คะแนน โดยจะให้ผู้ผ่านคุณสมบัติแสดงวิสัยทัศน์ภายในกลางเดือนกรกฎาคม เพื่อสรุปผลสรรหาเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ได้ก่อนวันที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.จะครบวาระ และให้ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.คนใหม่เริ่มทำงานทันที
รายงานข่าวแจ้งว่า นายกมลเป็นบุคคลที่พนักงาน ร.ฟ.ท.ให้การสนับสนุนมากที่สุด เพราะนอกจากเป็นวิศวกรแล้วยังเติบโตในสายงานโยธาซึ่งมีความรู้ความสามารถและเป็นผู้บริหารคนหนึ่งที่กล้าปฏิเสธคำสั่งที่ไม่ถูกต้องในช่วงที่ผ่านมา ส่วนนายภากรณ์นั้นได้รับแรงสนับสนุนจากนายยุทธนาเพื่อให้สานต่อการทำงาน แต่เมื่อนายประภัสร์ยื่นใบสมัครด้วยก็มีกระแสสนับสนุนจากพนักงาน ร.ฟ.ท.เช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและเป็นคนนอกที่จะมีมุมมองในการพัฒนารถไฟได้มากกว่าคนใน
ด้าน พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รถไฟต้องการผู้ว่าฯ ที่มีความรู้ความสามารถในการบริหาร มีความเชี่ยวชาญด้านรถไฟ และอีกเรื่องที่สำคัญคือต้องพัฒนาบุคลากรรถไฟกว่า 10,000 คนด้วยเพื่อให้ปรับตัวในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมารถไฟตกรางบ่อย แต่มีการเข้มงวดในการลงโทษอย่างเด็ดขาดให้ผู้บริหารร่วมรับผิดชอบและลงไปตรวจสอบพื้นที่สามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่นายประภัสร์สมัครด้วยนั้นไม่ทราบมาก่อนและไม่เคยมีการพูดคุยกัน
นายประภัสร์กล่าวว่า ตัดสินใจลงสมัครเพราะเห็นว่ารถไฟมีปัญหามากท้าทายให้แก้ไข ทั้งปัญหาตกราง ชนรถยนต์ ชนคน จนกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่รถไฟควรจะต้องปลอดภัยที่สุด รวมถึงแก้ปัญหาแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งพบว่าพนักงานมีคุณภาพแต่เพราะนโยบายของ ร.ฟ.ท.ไม่ชัด เป้าหมายต้องการพัฒนาให้รถไฟเป็นองค์กรที่พนักงานภูมิใจ สังคมยอมรับมั่นใจว่าหากได้รับการสรรหา เวลาเกือบ 3 ปีจะเพียงพอปรับปรุงและวางพื้นฐานใหม่ให้รถไฟได้