xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้วิกฤตหนี้ยุโรปลากยาว 4-5 ปี เตือนป้องกันฟองสบู่อสังหาฯ ตามหลอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการชี้ปัญหาวิกฤตยูโรโซนยืดเยื้อนาน 4-5 ปี เร่งรัฐรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยมองการลงทุนภาครัฐยังจำเป็นแต่ต้องเป็นโครงการที่เพิ่มขีดความสามารถเพื่อดันไทยเป็นฮับในภูมิภาคนี้ พร้อมเตือนรัฐหามาตรการป้องกันปัญหาฟองสบู่ภาคอสังหาฯ ที่เกิดขึ้นอีกครั้งหลังคอนโดฯ ใหม่เกิดขึ้นเพียบ และการตั้งกองทุนพยุงหุ้นได้ไม่คุ้มเสีย ย้ำการเมืองไทยเป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวเรื่องวิกฤตการณ์ยูโรโซน : ปัญหา ผลกระทบ และทางออก ในงานมุมเศรษฐกิจกับ ซี.พี. วันนี้ (26 มิ.ย.) ว่า สิ่งสำคัญที่ไทยต้องเตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ยูโรโซนที่คาดว่าจะยืดเยื้อไปนาน 4-5 ปี ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปีนี้เชื่อว่าการส่งออกไทยคงไปไม่ถึงเป้า 15% แต่น่าจะขยายตัวอยู่ระดับ 8-9% จะทำให้จีดีพีขยายตัวได้ 4-5%

ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังมีความจำเป็น แต่ต้องเน้นโครงการลงทุนที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคทั้งด้านลอจิสติกส์ ระบบสื่อสาร และเฮลท์แคร์ โดยอาศัยความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ เพื่อดึงดูดเงินทุนที่ไหลเข้ามาในเอเชีย สอดรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558

แต่ยอมรับว่าสิ่งที่กังวลมากที่สุดในขณะนี้คือ ปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ต่างชาติเฝ้าจับตาอยู่ หากเกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่น และเกิดสุญญากาศทางการเมืองที่มีผลต่อการออกมาตรการรับมือวิกฤตการเงินโลกได้ นอกจากนี้ต้องมีหน่วยงานดูแลเรื่องการบริหารจัดการการไหลเข้าและออกของเงินทุนต่างประเทศให้ดีด้วย

นอกจากนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการเกิดฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในไทยอีกครั้ง เนื่องจากมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมใหม่ตามเส้นทางรถไฟฟ้า อาทิ ย่านทองหล่อ-สำโรง ซึ่งมีถึง 35 โครงการ คิดเป็นกว่า 1 หมื่นยูนิต ไม่สอดคล้องกับกำลังซื้อของประชาชนที่แท้จริง มาจากดีมานด์เทียมเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายการยกเลิกประกันเงินฝากเดือน ส.ค.นี้ ทำให้ประชาชนนำเงินฝากไปซื้อคอนโดฯ เพื่อเก็งกำไร ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาภายหลัง

ดังนั้น ภาครัฐควรเข้ามาดูแลป้องกันไม่เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตกเหมือนปี 2540 ที่จะแก้ไขลำบากและกินเวลานาน โดยเข้าไปดูแลการแข่งขันด้านราคาอสังหาริมทรัพย์ การปล่อยสินเชื่อของธนาคารแก่ผู้ประกอบการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีจุดแข็งที่พอจะรับมือวิกฤตยูโรโซน คือ ไทยเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหลายประเทศในโลก โดยมีทุนสำรอง 60% ของจีดีพี มีอัตราเงินเฟ้อที่ระดับกว่า 2% ซึ่งต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย (R/P) รวมทั้งหนี้สาธารณะของไทยอยู่ระดับกว่า 40% ซึ่งต่ำกว่ายูโรโซนที่มีหนี้สาธารณะกว่า 100% ปัญหาการว่างงานไม่เกิน 1% และภาคเอกชนแข็งแรง ส่วนเงินคงคลังที่มีอยู่ 5.5 แสนล้านบาทนั้นหากมีการนำไปใช้จ่ายต้องระมัดระวัง ไม่ใช่นำไปใช้เพื่อบิดเบือนตลาด อาทิ ตั้งกองทุนพยุงหุ้น ซึ่งเห็นว่าไม่ได้มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาแต่จะทำให้เกิดปัญหาระยะยาว หากตั้งกองทุนพยุงหุ้นจะทำให้นักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนรอคอยให้รัฐเข้ามาอุ้ม

รศ.ดร.สมภพกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ยูโรโซนไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว น่าจะเกินเวลายืดเยื้อไป 4-5 ปี เนื่องจากขาดเอกภาพทางการเมืองของสมาชิกทั้ง 17 ประเทศ โดยทางออกของวิกฤตยูโรโซนในกรณีเลวร้ายที่สุด เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจต้องดำเนินการมาตรการ QE ข้ามทวีป เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ยูโรโซนเช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องดำเนินมาตรการ QE ด้วยตนเอง โดยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบไม่จำกัด จนทำให้เกิดเป็น Double QE Action และอาจจะต้องขอให้ธนาคารกลางกลุ่มจี9 โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย เข้ามาร่วมลงขันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น