xs
xsm
sm
md
lg

4 หน่วยงานจัดเวิร์กชอปด้านกฎหมายเตรียมรับมือเปิด AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

4 หน่วยงานหลักจับมือจัดเวิร์กชอปด้านกฎหมายรับมือ AEC เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และธนาคารไทยพาณิชย์ กำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ในวันที่ 20-21 ก.ค. 2555 เพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านกฎหมายรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558

ทั้งนี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายด้านการค้า การลงทุน การเงิน การธนาคาร ศุลกากร การเคลื่อนย้ายแรงงานและการบริการว่าที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมหรือไม่ หรือต้องมีการปรับปรุงอะไรเพื่อให้ไทยมีความพร้อมมากที่สุดในการเข้าสู่ AEC เพราะหากจะใช้การปรับปรุงกฎหมายด้วยขั้นตอนตามปกติอาจจะช้า และไม่ทันการณ์ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ไทย

“ขณะนี้มีกฎหมายอยู่หลายฉบับมากที่การปรับปรุงแก้ไขยังช้า เราจึงต้องมาโฟกัสว่าจะจัดการ จะปรับปรุง จะแก้ไขกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ยังไง และจำเป็นต้องบอกให้นักธุรกิจของไทย เมื่อเข้าสู่ AEC จะมีประเด็นทางด้านกฎหมาย มีข้อพิพาท เกิดขึ้น ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ และศึกษาประเด็นทางด้านกฎหมางต่างๆ ให้ดี” นางศรีรัตน์กล่าว

นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ประธานศาลฎีกาได้มีนโยบายให้ศาลเตรียมความพร้อมรองรับ AEC เพราะการเป็น AEC แม้จะส่งผลดีในภาพรวม แต่ก็จะมีข้อพิพาทต่างๆ เกิดขึ้นได้มาก ทั้งในเรื่องการค้า การลงทุน ขนส่ง และแรงงาน ศาลจึงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ โดยต้องมีการศึกษาข้อมูลกฎหมายของประเทศต่างๆ และเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันในการเข้ามาดูเรื่องกฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC เพราะขณะนี้เหลืออีกไม่ถึง 3 ปี ยังสามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรับ AEC ได้ ดังนั้น ใครอยากให้มีกฎหมายอะไร อยากให้ปรับ ให้เพิ่มกฎหมายแบบไหน ก็สามารถมาบอกได้ และในส่วนของกรมฯ ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรองรับ AEC แล้ว คือ การปรับปรุงกฎหมายความลับทางการค้า และกฎหมายลิขสิทธิ์ในเรื่องการละเมิดทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น