ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลสั่ง เอ.พี.ฮอนด้าจ่ายค่าเสียหายดีลเลอร์ 5 ล้าน เหตุบอกเลิกสัญญามิชอบ ใช้อำนาจต่อรองบีบรับสัญญาที่ผู้ประกอบการไม่มีทางเลือก ระบุเป็นช่องทางของบริษัทยักษ์ใหญ่ใช้ครอบงำตลาด และอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้
วันนี้ (14 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาในคดีที่ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ เซลล์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ยื่นฟ้องต่อ บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด กับพวกรวม 3 คน ในข้อหาบอกเลิกสัญญาโดยไม่เป็นธรรม ผิดสัญญา และเรียกค่าเสียหาย
ทั้งนี้ ศาลมีคำพิพากษาให้บริษัท เอ.พี.ฮอนด้าชำระเงินจำนวน 5,120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง (6 กันยายน 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บริษัทวิจิตรภัณฑ์
นอกจากนี้ บริษัท เอ.พี.ฮอนด้าต้องชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 640,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะปฏิบัติตามสัญญาผู้จำหน่ายได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะข้อสัญญาที่ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 เพื่อให้บริษัทวิจิตรภัณฑ์สามารถเปิดกิจการต่อไปได้ แต่ค่าเสียหายจำนวนนี้มิให้คิดเกิน 1 ปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง และบริษัท เอ.พี.ฮอนด้ายังต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาทอีกด้วย
สำหรับสาเหตุที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของรถยนต์ฮอนด้ายื่นฟ้องต่อศาลในครั้งนี้ เนื่องจากถูกยกเลิกสัญญาและไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังจากถูกสั่งตัดระบบการสั่งสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 จนไม่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าและประกอบกิจการต่อได้
ทั้งนี้ ศาลมีคำวินิจฉัยว่า การยกเลิกสัญญาและตัดระบบการสั่งสินค้าของบริษัท เอ.พี.ฮอนด้าไม่เป็นธรรม โดยขอสัญญาที่บริษัท เอ.พี. ฮอนด้ากล่าวอ้างว่า “คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยที่ไม่มีการผิดสัญญาได้...” นั้นถือว่าไม่เป็นธรรม และมีลักษณะเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ มีผลให้ผู้จำหน่ายซึ่งมีอำนาจในการต่อรองน้อยกว่า รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ
นอกจากนี้ บริษัท เอ.พี.ฮอนด้ายังเป็นฝ่ายได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแจ้งชัด ตามมาตรา 4 (3) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 และเมื่อพิจารณาถึงปกติประเพณีของสัญญาชนิดนี้ตามมาตรา 10 แห่งกฎหมายฉบับดังกล่าวย่อมเป็นไปได้ยากที่ฝ่ายผู้จำหน่ายจะเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาโดยบริษัทไม่ผิดสัญญา เพราะผู้จำหน่ายต้องอาศัยสินค้ารถจักรยานยนต์ของบริษัท เอ.พีฮอนด้าเพียงรายเดียวมาจำหน่ายในธุรกิจของตน
ดังนั้น การลงนามในสัญญาของบริษัทวิจิตรภัณฑ์จึงเป็นการเสียเปรียบเนื่องจากไม่มีอำนาจในการต่อรอง ทำให้จำเป็นต้องยินยอมรับสัญญาดังกล่าว
ทั้งนี้ ศาลยังระบุอีกว่า การต้องยอมรับสัญญาที่มีข้อความว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ว่าเป็นสัญญาที่เป็นธรรมโดยปราศจากเหตุผลและมิได้คำนึงถึงความเสียหายของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เท่ากับยอมรับให้มีผู้มีอำนาจต่อรองสูงกว่าสามารถทำลายกลไกตลาดโดยไม่มีข้อจำกัด ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อบรรยากาศการแข่งขันในตลาดเสรีและเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ในอนาคตเพราะจะไม่มีความแน่นอนในการทำธุรกิจ ซึ่งต้องมีการลงทุนในปริมาณมากทั้งเงินและแรงงาน หากปล่อยให้คู่สัญญาบอกเลิกสัญญาตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้ ย่อมเป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจครอบงำตลาด สามารถสร้างกฎเกณฑ์การค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในที่สุดก็ย่อมมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงผู้บริโภคคนสุดท้ายอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
คดีหมายเลขดำที่ ทป. 81/2554
คดีหมายเลขแดงที่ ทป. 58/2555
ระหว่าง บริษัท วิจิตรภัณฑ์ เซลล์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด โจทก์
บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน จำเลย
ความแพ่ง
วันที่ 14 มิถุนายน 2555
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยทั้งสามแล้ว
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาแต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ และบริการภายใต้เครื่องหมายการค้ายี่ห้อฮอนด้า ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ได้ลงทุนในการประกอบกิจการเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่จำเลยที่ 1 กำหนด โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาผู้จำหน่ายอย่างเคร่งครัด ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 ได้จัดทำสัญญาผู้จำหน่ายให้โจทก์และผู้จำหน่ายรายอื่นลงนาม ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 8.1 ระบุว่า “คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้โดยที่ไม่มีการผิดสัญญาได้ โดยส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อยเก้าสิบวัน ก่อนถึงวันครบอายุสัญญา” ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 จำเลยที่ 1 โดยนายธีระพัฒน์ จิวะพงค์ กรรมการจำเลยที่ 1 ในขณะนั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ได้มีหนังสือถึงโจทก์บอกเลิกสัญญาผู้จำหน่ายที่ทำขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่ง และต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2554 จำเลยที่ 1 ได้ตัดระบบการสั่งสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 ได้ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประเด็นแรกว่า สัญญาผู้จำหน่ายฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ต้องยึดหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรค 3 ซึ่งได้ยกตัวอย่างของคำจำกัดความไว้ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือให้ข้อสัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โดยอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ข้อเท็จจริงคดีนี้รับฟังเป็นที่ยุติว่า ก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาพิพาทกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.8 ข้อสัญญาข้อ 8.1 ให้สิทธิคู่สัญญาบอกเลิกสัญญา โดยไม่มีการผิดสัญญาได้นั้น โจทก์ได้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ก่อนแล้ว 1 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งสัญญาฉบับที่ทำในปี พ.ศ. 2546 ดังกล่าวมีอายุ 1 ปี แต่ระบุให้มีการต่ออายุสัญญาโดยอัตโนมัติ และได้มีการต่ออายุโดยอัตโนมัติเรื่อยมา จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญาฉบับใหม่ ตามเอกสารหมาย จ.8 มาให้โจทก์ลงนามในปี 2551 จริงอยู่แม้ว่าก่อนลงนามในสัญญา โจทก์มีสิทธิอ่านและตรวจสอบสัญญาก่อน และโจทก์ก็อาจอ่านข้อความในสัญญาข้อ 8.1 แล้วก็ตาม แต่การพิจารณาว่าคู่ความฝ่ายใดตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงอำนาจต่อรองในตลาดฐานะทางเศรษฐกิจ ทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญาตามสภาพความเป็นจริง หรือปกติประเพณีของสัญญาชนิดนั้น ตามมาตรา 10 (1) (2) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ ดังกล่าว ซึ่งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า ก่อนที่โจทก์จะลงนามในสัญญาในปี พ.ศ. 2551 โจทก์ได้ลงทุนทั้งทรัพย์สิน เงินทุน อาคาร และแรงงานเป็นจำนวนมากแล้ว ตั้งแต่ทำสัญญาฉบับแรกในปี พ.ศ. 2546 จึงมีความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่โจทก์จะต้องดำเนินธุรกิจต่อไป ในภาวะเช่นนั้นโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจต่อรองหรือปฏิเสธไม่ยอมลงนามในสัญญาฉบับใหม่ได้ เป็นความจำยอมและไม่มีทางเลือกอื่นที่โจทก์สามารถทำได้ พฤติการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เป็นความสมัครใจโดยแท้และมิได้อยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจเหนือตลาดกำหนดเงื่อนไขให้โจทก์ปฏิบัติโดยไม่มีอิสระในการตัดสินใจ และเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 8.1 ก็มีลักษณะเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นฝ่ายเดียวโดยพยานโจทก์ปากนายดุสิต โฆษิดาพันธุ์ ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำพยานและสาบานตนเบิกความรับรองแล้วว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 ได้จัดทำสัญญาผู้จำหน่ายแต่เพียงฝ่ายเดียว มีการเพิ่มข้อตกลงจากสัญญาฉบับเดิมให้คู่สัญญามีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่ผิดสัญญาได้ นำมาให้โจทก์ลงนาม โจทก์มีรายได้หลักและดำรงอยู่ได้จากการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าของจำเลยที่ 1 เพียงยี่ห้อเดียว และโจทก์ได้มีการลงทุนในกิจการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง สภาพทางการค้าของโจทก์จึงต้องพึ่งพาจำเลยที่ 1 โจทก์จึงตกอยู่ในภาวะจำยอม เพราะหากไม่ยอมทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.8 อาจทำให้โจทก์ต้องเลิกกิจการ ขณะที่พยานโจทก์ปากนางสุนันทา ตัณติเวชวุฒิกุล ก็เบิกความว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นสัญญาสำเร็จรูป ผู้จำหน่ายไม่มีอำนาจต่อรอง และไม่มีส่วนในการร่างสัญญา ไม่สามารถแก้ไขสัญญาได้ หากไม่ลงนามในสัญญาก็ไม่มีการส่งมอบรถให้มาจำหน่าย ครอบครัวของพยานตั้งแต่รุ่นมารดาจนถึงรุ่นสามีพยานจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ไม่สามารถจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้ออื่นได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่อนุญาต การที่สัญญากำหนดว่าปีต่อปี จะบอกเลิกเมื่อใดก็ได้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การทำธุรกิจนี้ต้องลงทุนค่อนข้างสูง การทำสัญญาปีต่อปีไม่สามารถคืนทุนได้ แต่เนื่องจากผู้จำหน่ายไม่มีอำนาจต่อรองก็ต้องยอมรับ ขณะที่พยานจำเลยทั้ง 3 ปากนายณัฐชัย ศรีโสวรรณา พนักงานจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า สัญญาผู้แทนจำหน่ายตามเอกสารหมาย ล.5 ยังเป็นฉบับเดียวกันกับ เอกสารหมาย จ.8 มีรูปแบบเดียว จำเลยที่ 1 มีผู้จำหน่ายอยู่ 900 รายทั่วประเทศ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีสัญญาแตกต่างกัน สัญญาผู้จำหน่ายเหมือนกันทั่วประเทศ และยังตอบถามค้านอีกว่า ผู้จำหน่ายสามารถโต้แย้งสัญญาได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขสัญญาได้ และไม่จำเป็นต้องลงนามก็ได้ เป็นสิทธิของผู้จำหน่าย แต่หากไม่ลงนามในสัญญา ก็ไม่ได้เป็นคู่สัญญากัน ไม่ได้ทำการค้าขายกัน เช่นนี้คำเบิกความของนายณัฐชัยฯ เท่ากับยอมรับว่า สัญญาที่จำเลยที่ 1 นำมาให้โจทก์และผู้จำหน่ายรายอื่นลงนามในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 นั้น จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้นฝ่ายเดียว คู่สัญญาอีกฝ่ายไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้า คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเพียงแค่จะลงนามหรือไม่ลงนามเท่านั้น ซึ่งหากไม่ลงนามก็ไม่มีรถจักรยานยนต์จำหน่าย ลักษณะดังกล่าวจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป ตามคำนิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 อีกทั้งเป็นสัญญาที่คู่สัญญาอีกฝ่ายไม่มีสิทธิต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะโจทก์ในฐานะผู้จำหน่ายต้องจำยอมลงนาม หาไม่แล้วก็จะไม่มีสิทธิประกอบการค้าต่อไป และการที่สัญญาผู้จำหน่ายข้อ 8.1 ตามเอกสารหมาย จ.8 มีข้อความว่า “คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้โดยที่ไม่มีการผิดสัญญาได้...” มีลักษณะเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ มีผลให้ผู้จำหน่ายซึ่งมีอำนาจในการต่อรองน้อยกว่า รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ทำให้จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแจ้งชัด ตามมาตรา 4 (3) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 และเมื่อพิจารณาถึงปกติประเพณีของสัญญาชนิดนี้ตามมาตรา 10 แห่งกฎหมายฉบับดังกล่าวย่อมเป็นไปได้ยาก ที่ฝ่ายผู้จำหน่ายจะเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาโดยบริษัทไม่ผิดสัญญา เพราะโจทก์หรือผู้จำหน่ายต้องอาศัยสินค้ารถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 เพียงรายเดียวมาจำหน่ายในธุรกิจของตน หากผู้จำหน่ายเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาก็หมายความว่าต้องเลิกกิจการนั้นเอง และในการดำเนินธุรกิจชนิดนี้ผู้จำหน่ายต้องลงทุนจำนวนสูงมาก ทั้งด้านการเงินและอาคารสถานที่ โอกาสที่ผู้จำหน่ายซึ่งลงทุนสูงเช่นนั้นจะบอกเลิกกิจการโดยไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาเกือบจะพ้นวิสัย ดังนี้ การที่โจทก์ยอมลงนามในสัญญาผู้จำหน่าย เอกสารหมาย จ.8 จึงมิได้เป็นไปด้วยความสมัครใจโดยแท้ และมิได้อยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย และเห็นได้ชัดว่าฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้เปรียบและฝ่ายโจทก์ก็เสียเปรียบ เพราะต้องลงนามในสัญญาสถานเดียวจึงจะสามารถทำการค้าต่อไปได้ หากต้องยอมรับสัญญาที่มีข้อความว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ว่าเป็นสัญญาที่เป็นธรรมโดยปราศจากเหตุผลและมิได้คำนึงถึงความเสียหายของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เท่ากับยอมรับให้มีผู้มีอำนาจต่อรองสูงกว่าสามารถทำลายกลไกตลาดโดยไม่มีข้อจำกัด ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อบรรยากาศการแข่งขันในตลาดเสรีและเป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหม่ในอนาคตเพราะจะไม่มีความแน่นอนในการทำธุรกิจ ซึ่งต้องมีการลงทุนในปริมาณมากทั้งเงินและแรงงาน หากปล่อยให้คู่สัญญาบอกเลิกสัญญาตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้ ย่อมเป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจครอบงำตลาดสามารถสร้างกฎเกณฑ์การค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในที่สุดก็ย่อมมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงผู้บริโภคคนสุดท้ายอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนี้ สัญญาผู้จำหน่ายเฉพาะข้อ 8.1 ตามเอกสารหมาย จ.8 จึงเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ฟังได้ว่าข้อสัญญาเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 สัญญาผู้จำหน่ายเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 8.1 ไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจอาศัยข้อสัญญาดังกล่าว บอกเลิกสัญญาผู้จำหน่ายกับโจทก์ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ แต่ทั้งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนต่อความสมบูรณ์ของสัญญาในข้ออื่นๆ
ประเด็นที่สอง จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาผู้จำหน่ายหรือไม่และจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อนี้เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่าสัญญาผู้จำหน่ายข้อ 8.1 ตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมย่อมฟังได้ว่าการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ชอบ สัญญาผู้จำหน่ายตามเอกสารหมาย จ.8 จึงยังมีผลบังคับอยู่ โดยถือว่าได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติคราวละ 1 ปีนับจากวันครบกำหนดาสัญญาข้อ 2.2 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงต้องปฏิบัติตามสัญญา แต่จากทางนำสืบของโจทก์ ได้ความว่า จำเลยที 1 สั่งตัดระบบการสั่งสินค้าทางอิเล็กทรอนิคส์ของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 ทำให้โจทก์ไม่อาจสั่งซื้อสินค้าได้ บริการลูกค้าก็ไม่ได้ และในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่อง การดูแลลูกค้าก็ไม่สามารถดูแลได้ ซึ่งทางนำสืบของจำเลยทั้งสามก็ยอมรับข้อเท็จจริงนี้ แต่อ้างว่าเพื่อให้สามารถชำระค่าใช้จ่ายให้เสร็จได้ภายในงวดชำระเงินวันที่ 17 มกราคม 2554 เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินการฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และไม่มีอำนาจตามสัญญาให้ทำเช่นนั้นได้ เพราะก่อนครบกำหนดสัญญาคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาทุกประการ ไม่ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 ตัดระบบสั่งสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ก่อนครบกำหนดอายุสัญญาย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้จำเลยทั้งสามเองก็ได้ให้การยอมรับว่า “ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ในข้อ 8.1 และ 2.2 ซึ่งให้สิทธิคู่สัญญาสามารถบอกเลิกสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ก่อนครบกำหนดอายุอย่างน้อย 90 วัน โดยให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาในวันครบกำหนดอายุสัญญา...” แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่า ผลของการบอกเลิกสัญญามีผลในวันครบกำหนดอายุสัญญา มิใช่มีผลทันที่ ดังนั้น สิทธิและหน้าที่ที่คู่สัญญามีต่อกันตามสัญญาก็จะต้องปฏิบัติกันต่อไปให้ครบถ้วน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 สั่งตัดระบบการสั่งซื้อสินค้าในวันที่ 1 มกราคม 2554 ก่อนวันครบกำหนดสัญญา จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ถือเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา ส่วนที่จำเลยทั้งสามยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีว่า จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าจะไม่มีการจัดส่งอะไหล่ชิ้นส่วนรวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป เพื่อให้สามารถเคลียร์ค่าใช้จ่ายให้เสร็จได้ภายในงวดชำระเงินวันที่ 17 มกราคม 2554 จึงต้องตัดระบบการสั่งซื้อสินค้าในวันที่ 1 มกราคม 2554 อันเป็นการปฏิบัติตามสัญญาผู้จำหน่าย และหนังสือเรื่องการบอกเลิกสัญญาและภาระผูกพันหลังเลิกสัญญานั่นเอง นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย อีกทั้งยังอยู่ในช่วงอายุของสัญญา จึงไม่มีการผูกพันหลักเลิกสัญญาใดๆ ที่จำเลยที่ 1 จะมีสิทธิกำหนดให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายให้เสร็จภายในกำหนด การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าและอะไหล่ก่อนครบกำหนดอายุสัญญาได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า เหตุที่บอกเลิกสัญญาเพราะโจทก์เป็นผู้จำหน่ายของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้เป็นไปตามมาตรฐาน และไม่ให้ความร่วมมือในการส่งช่างมาฝึกอบรม โดยส่งช่างมาครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2548 จากนั้นก็ไม่ส่งช่างมาอีกเลย ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ถือข้อนี้เป็นสาระสำคัญ ก็คงบอกเลิกสัญญากับโจทก์ตั้งแต่ตอนนั้น แต่กลับปล่อยระยะเวลาให้ล่วงเลยมาเป็นเวลาถึง 3 ปี แล้วยังทำสัญญาฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.8 กับโจทก์อีกในปี พ.ศ. 2551 ข้อกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสามในข้อสัญญาฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.8 กับโจทก์อีกในปี พ.ศ. 2551 ข้อกล่าวอ้างของจำเลยทั้งสามในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ประกอบกับหนังสือบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.9 จำเลยที่ 1 ยังแสดงความขอบคุณที่โจทก์ได้สนับสนุนการจำหน่ายและกิจกรรมของบริษัทด้วยดีโดยตลอด เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้พิจารณาถึงข้อบกพร่องด้านมาตรฐานเป็นสำคัญ นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้เคยมีหนังสือเตือนโจทก์ให้ปรับปรุงมาตรฐานการจำหน่ายหรือการให้บริการแต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น เช่นกัน ส่วนที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า โจทก์มีมาตรฐานการจำหน่ายและการบริการไม่ได้มาตรฐานนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีพยานหลักฐานคือบริษัทคนกลางที่จำเลยที่ 1 จ้างไปตรวจสอบมาเบิกความยืนยัน จำเลยทั้งสามมีเพียงเอกสารหมาย ล.9 และ ล.11 ที่ทำขึ้นฝ่ายเดียว โดยไม่มีผู้ตรวจสอบและผู้ทำเอกสารมาเบิกความยืนยัน จึงไม่อาจฟังได้ว่าโจทก์ดำเนินการไม่ได้มาตรฐานอันอาจนำมาเป็นข้ออ้างในการบอกเลิกสัญญาในกรณีอื่น และที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้างในคำแถลงการณ์ปิดคดีว่า จำเลยที่ 1 เป็นองค์กรใหญ่ต้องรักษาความเป็นมาตรฐานสากลระดับโลกทางการค้า ทางธุรกิจกับผู้จำหน่ายอันเป็นคู่สัญญา เห็นว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ควรจะใช้มาตรฐานสากลที่ไม่สร้างอำนาจเหนือคู่สัญญามากเกินไป และมาตรฐานสากลที่จำเลยที่ 1 ควรปฏิบัติน่าจะเป็นเรื่องของความโปร่งใส และการมีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ หรือยึดถือข้อตกลงใน สัญญาโดยถ้อยทีถ้อยอาศัย และข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญากับโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิด และยังตัดระบบการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางธุรกิจของโจทก์ทำให้โจทก์ไม่อาจสั่งสินค้าหรืออะไหล่ได้ ลักษณะเช่นนี้ย่อมมิใช่มาตรฐานสากล ส่วนจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าหลังเลิกสัญญาแล้วโจทก์ยังสั่งซื้อรถจักรยานยนต์ได้โดยอ้างส่งเอกสารหมาย ล.14 แต่ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องของการสั่งซื้อก่อนเดือนมกราคม 2554 คือประจำเดือน 12/2010 ตามเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องของการสั่งซื้อก่อนเดือนมกราคม 2554 คือประจำเดือน 12/2010 ตามเอกสารแผ่นที่ 78 ซึ่งเป็นแผ่นสุดท้ายของเอกสารหมาย ล.14 แต่โจทก์เพิ่งได้รับรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2554 เห็นได้ว่าเป็นการสั่งซื้อก่อนที่จำเลยที่ 1 จะตัดระบบของโจทก์ในเดือนมกราคม 2554 ข้อกล่าวอ้างและพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้าง ปราศจากน้ำหนัก ไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ พยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาผู้จำหน่ายและทำโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ได้ความว่าเป็นเพียงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดนอกเหนือขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และมิได้กระทำการใดเป็นการส่วนตัวจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และจากการที่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญายังมิได้เลิกกัน เนื่องจากการบอกเลิกสัญญา โดยอาศัยสัญญาข้อ 8.1 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ใช้บังคับกับคู่สัญญาไม่ได้ จึงไม่มีผลบังคับ แต่สัญญาผู้จำหน่ายส่วนอื่นๆ ตามเอกสารหมาย จ.8 ยังบังคับได้อยู่ ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญายังมีผลบังคับ หน้าที่ของคู่สัญญามีอยู่อย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น และเมื่อฟังได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ตัดระบบการสั่งสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาดังที่เคยปฏิบัติก่อนที่จะมีการบอกเลิกสัญญา หากไม่ปฏิบัติก็จะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายต่อโจทก์ เมื่อฟังได้ว่าสัญญายังคงมีผลบังคับอยู่ จำเลยที่ 1 จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาให้โจทก์ดำเนินกิจการต่อไป แต่เมื่อพิจารณาคำขอท้ายฟ้องข้อ 3 แล้วพบว่า มีลักษณะเป็นคำขอที่กำหนดทางเลือกให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติว่าจะเลือกปฏิบัติตามสัญญาหรือจะชำระเงินค่าเสียหายให้โจทก์ก็ได้ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงสามารถเลือกชำระหนี้ได้ดังจะได้วินิจฉัยส่วนนี้ในส่วนของค่าเสียหายต่อไป
ประเด็นที่สาม ค่าเสียหายมีเพียงใด ข้อนี้ โจทก์ฟ้องว่าการที่จำเลยทั้งสามบอกเลิกสัญญาผู้จำหน่ายโดยไม่มีอำนาจ ไม่เป็นธรรม และการบอกเลิกสัญญาเป็นโมฆะ ไม่สามารถใช้บังคับได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อะไหล่ รวมทั้งการให้บริการด้านอื่น ภายใต้เครื่องหมายการค้ายี่ห้อฮอนด้า แก่ลูกค้าได้ จนโจทก์ต้องเลิกกิจการ โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานของโจทก์จำนวน 9 คน คิดเป็นเงิน 1,076,500 บาท และโจทก์มีรายได้ต่อเดือนจากการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า อะไหล่ รวมทั้งบริการด้านอื่น เดือนละ 640,000 บาท และโจทก์ขาดรายได้จำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยทั้งสามตัดระบบการสั่งซื้อสินค้าทางอิเล็กทรอนิคส์ของโจทก์ คือวันที่ 1 มกราคม 2554 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 8 เดือน คิดเป็นเงิน 5,120,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,196,500 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ และเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาผู้จำหน่ายไม่ชอบ สัญญาจึงยังมีผลบังคับอยู่ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์เดือนละ 640,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะปฏิบัติตามสัญญาผู้จำหน่ายให้โจทก์ประกอบกิจการได้อีกครั้ง หากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้โจทก์ขอคิดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปีนับถัดจากวันฟ้อง คิดเป็นเงิน 38,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยโจทก์มีพยานคือนายดุสิต โฆษิดาพันธุ์ กรรมการผู้มีอำนาจ เบิกความตอบทนายโจทก์ที่ขออนุญาตซักถามเพิ่มเติมจากบันทึกถ้อยคำว่า ในปี พ.ศ. 2551 มียอดขาย 69 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2552 ยอดขาย 22 ล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2552 ได้ยอดรถจักรยานยนต์มาจำหน่าย 450 คัน ปกติแล้วถ้าจำหน่ายเงินสดจะได้กำไรตันละประมาณ 3,000-5,000 บาท แต่ถ้าขายแบบเงินผ่อนก็จะได้กำไรคันละ 10,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.30 เห็นได้ว่าโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นชัดว่าในแต่ละเดือนก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งตัดระบบซื้อทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นโจทก์ได้กำไรเดือนละประมาณเท่าใด และค่าเสียหายเดือนละ 640,000 บาท โจทก์คิดคำนวณจากยอดขายช่วงใด ขณะที่ฝ่ายจำเลยทั้งสามก็ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมาสืบหักล้างแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น แต่เมื่อพิเคราะห์สถานประกอบการของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.31 ซึ่งเป็นภาพถ่ายร้านค้าของโจทก์ก่อนถูกจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญา ประกอบตารางราคาขายรถจักรยานยนต์เอกสารหมาย จ.30 โดยพิจารณารายงานงบการเงิน ประจำปี 2549 ถึง 2552 ซึ่งแสดงยอดขายและรายได้ 4 ปีย้อนหลัง ตามเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.25 ประกอบการสั่งซื้อหมาย จ.16 ประกอบกอบกับพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีโดยคำนึงถึงสภาพธุรกิจและสินค้าที่โจทก์ประกอบการ เปรียบเทียบตั้งแต่อดีตนับตั้งแต่โจทก์เริ่มธุรกิจกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงระยะเวลาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะตัดระบบสั่งซื้อทางอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ แล้ว เห็นได้ว่าโจทก์เคยมียอดขายและรายได้ที่สูงมาก เทียบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาเดือนละ 640,000 บาท วินิจฉัยว่า เป็นจำนวนที่เหมาะสม จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวทุกเดือนๆ นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป จนถึงวันฟ้อง และจนกว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาผู้จำหน่ายตามเอกสารหมาย จ.8 โดยดำเนินการเปิดระบบสั่งสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ให้โจทก์สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ แต่หากจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญา ก็ให้ชำระค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้มานับแต่ถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีนั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหลักฐานการคิดเช่นไรในการคาดการณ์ความเสียหายในอนาคต เห็นว่าเป็นการเรียกค่าเสียหายที่ยาวนานเกินไป เมื่อคำนึงถึงระยะเวลาและโอกาสที่โจทก์สูญเสียไป ประกอบกับระยะเวลาที่เหมาะสม จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เดือนละ 640,000 บาท นับแต่วันถัดจากฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 จะปฏิบัติตามสัญญาหมาย จ.8 ทำให้โจทก์สามารถดำเนินกิจการตามปกติ แต่มิให้คิดค่าเสียหายส่วนนี้เกิดกำหนด 1 ปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ส่วนที่โจทก์เรียกค่าชดเชยจากการที่ต้องจ่ายเงินให้พนักงานเพราะต้องเลิกจ้างนั้น เห็นว่า ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องจ่ายให้ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้าง แม้โจทก์อ้างว่าเป็นผลมาจากจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญา ไม่มีรถจักรยานยนต์จำหน่ายและต้องเลิกกิจการ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างของตน จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาทางธุรกิจไม่มีหน้าที่จะต้องไปรับผิดชอบในหน้าที่ของโจทก์ นอกจากนี้ก็ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดว่าโจทก์ได้จ่ายเงินดังกล่าวไปเพราะผลสืบเนื่องจากจากการที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาโดยตรง อีกทั้งหน้าที่ที่โจทก์จะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานเป็นสิ่งที่สามารถคาดเห็นล่วงหน้าและต้องเตรียมการไว้ก่อนแล้ว เพราะการทำธุรกิจย่อมต้องมีการวางแผนเกี่ยวกับต้นทุนด้านแรงงานไว้ด้วย ดังนั้นที่โจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยเพราะต้องเลิกจ้างคนงานจึงเป็นความรับผิดชอบของโจทก์โดยแท้ จำเลยที 1 ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ จึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้
ส่วนที่จำเลยทั้งสามขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้บริโภค ไม่เป็นผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีอำนาจฟ้อง อีกทั้งจำเลยทั้งสามยังกล่าวอ้างว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน โจทก์จึงไม่มีอำนานฟ้องเช่นกัน เห็นว่า เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วสัญญาผู้จำหน่วยเป็นสัญญาสำเร็จรูป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยคำร้องของจำเลยทั้งสามในส่วนนี้ และที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่ามูลเหตุทีฟ้องไม่เกี่ยวกับสัญญา อนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าเพราะไม่มีการจดทะเบียนอนุญาตให้ใช้สิทธิเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลนี้ นั้น จำเลยทั้งสามก็มิได้ระบุว่าคดีควรอยู่ในอำนาจของศาลใด และการที่จำเลยทั้งสามนำพยานหลักฐานฝ่ายตนเข้าสืบจนเสร็จสิ้นโดยไม่ทักท้วงตั้งแต่นัดสืบพยานโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามยอมรับการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลนี้ และไม่มีเหตุที่ทำให้คู่ความได้รับความเสียหายในการดำเนินกระบวนพิจารณาแต่ประการใด กรณีมิใช่เป็นเรื่องมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาว่าคดีจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ และการวินิจฉัยคำร้องส่วนนี้ย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยคำร้องส่วนนี้ของจำเลยทั้งสามเช่นกัน
พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง( 6 กันยายน 2554 ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 640,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะปฏิบัติตามสัญญาผู้จำหน่าย เลขที่ 78384 ฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ตามเอกสารหมาย จ.8 เฉพาะข้อสัญญาที่ไม่ขัดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เพื่อให้โจทก์สามารถเปิดกิจการต่อไปได้แต่ค่าเสียหายจำนวนนี้มิให้คิดเกิน 1 ปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำขออื่นให้ยก
นายคมน์ทนงชัย ฉายไพโรจน์
นางสาวมัสฤณ วานิชวัฒนรำลึก
นายณรงศักดิ์ พิชยพาณิชย์
คำให้การของจำเลย
คำแถลงการณ์ปิดคดี