xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งคณะทำงานเกาะติด 5 อุตฯ เสี่ยงรับมือวิกฤตอียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี
กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูลภาคการผลิตเพื่อวิเคราะห์แผนรับมือวิกฤตอียู มอบ “โสภณ” ผอ.สศอ.เป็นประธานพร้อมรายงานให้นายกฯ รับทราบทุก 1-2 สัปดาห์ เน้นโฟกัส 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเสี่ยง ได้แก่ ยานยนต์ สิ่งทอ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอัญมณี   ยางพารา 

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้กระทรวงเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อที่จะหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะภาคส่งออก ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลในการรับมือต่อผลกระทบอียู โดยมีนายโสภณ ผลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นประธาน

“ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้แต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าวขึ้น ซึ่งการรวบรวมข้อมูลจะนำกลับมารายงานทุกสัปดาห์ และนายกฯ ยังให้หารือเพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าวร่วมกันทุก 2 สัปดาห์ด้วย” นายวิฑูรย์กล่าว

สำหรับการรวบรวมข้อมูลจะโฟกัสอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก 4 อุตสาหกรรมเสี่ยงก่อน ลำดับแรกคือ ยานยนต์ สิ่งทอ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอัญมณี เนื่องจากมีมูลค่าส่งออกค่อนข้างมาก โดยให้รวบรวมข้อมูลว่ามีโรงงานประเภทใดบ้างที่ส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอียู และส่งออกแล้วมีปัญหาหรือไม่อย่างไร และมีผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมกี่รายที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เป็นต้น

ทั้งนี้ เบื้องต้นแนวทางช่วยเหลือส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมคงจะเน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการผลิตที่จะต้องเน้นการลดต้นทุน เช่น การจัดระบบขนส่งหรือลอจิสติกส์ ที่จะต้องประสานกับกระทรวงคมนาคม การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เป็นต้น ส่วนการหาตลาดใหม่ตามที่เอกชนได้เสนอแนะนั้นเป็นเรื่องที่คงจะต้องประสานกับกระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานฯ ได้เริ่มรวบรวมข้อมูลแล้ว โดยจะแบ่งข้อมูลออกเป็น 2 ส่วนทั้งส่วนของรัฐ และเอกชน โดยภาครัฐจะรวบรวมในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) ที่จะเน้นไปยัง 4 กลุ่มอุตสหกรรมหลัก อีกส่วนข้อมูลจะมาจากภาคเอกชนโดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มเพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนและช่วยเหลือต่อไป

“นอกจาก 4 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักแล้วผมได้เพิ่มส่วนของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางไปอีกอุตสาหกรรมหนึ่งด้วย เนื่องจากคาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกันในอนาคตเพราะมีการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อมไปยังอียู” นายโสภณกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น