xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมระลอกใหม่ถนน ทช.เสียหายแล้ว 27 สาย เร่งเท 127 ล.ซ่อมเปิดทางสัญจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถนน ทช.อ่วมน้ำท่วมระลอกใหม่เสียหายแล้ว 9 จังหวัดทั้งภาคเหนือและใต้ รวม 27 สายทาง โดยการสัญจรผ่านไม่ได้ 1 สาย คาดใช้งบเบื้องต้น 127.9 ล้านบาท “ชาติชาย” แจงถนนของ ทช.มีโลโก้ชัดเจน พบชำรุดแจ้ง 1146 พร้อมซ่อมทันที ส่วนถนนอีกกว่า 3.5 แสนกิโลเมตรอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 7,853 แห่ง

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีถนนของกรมทางหลวงชนบทประสบอุทกภัย 9 จังหวัด รวมทั้งหมด 27 สายทาง โดยไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 1 สายทาง ยังสามารถสัญจรผ่านได้ 26 สายทาง โดยเป็นเส้นทางในภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร 1 สายทาง สามารถสัญจรผ่านได้, สุโขทัย 1 สายทาง สามารถสัญจรผ่านได้ ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี 1 สายทาง สามารถสัญจรผ่านได้ ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร 2 สายทาง สามารถสัญจรผ่านได้, ตรัง 2 สายทาง สามารถสัญจรผ่านได้, ปัตตานี 1 สายทาง สามารถสัญจรผ่านได้, พังงา 1 สายทาง สามารถสัญจรผ่านได้, ระนอง 13 สายทาง สามารถสัญจรผ่านได้, สุราษฎร์ธานี 5 สายทาง สามารถสัญจรผ่านได้ 4 สายทาง ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 1 สายทาง โดยจะใช้งบซ่อมแซมเบื้องต้น 127.930 ล้านบาท

เส้นทางที่ได้รับผลกระทบขณะนี้กรมทางหลวงชนบทได้เข้าไปดำเนินการแบบชั่วคราวเพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้ และหลังจากนั้นจะต้องปรับปรุงให้สัญจรได้อย่างถาวรอีกครั้ง ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุงถนนนั้นเป็นงบประมาณงบเบิกฉุกเฉินประจำปีของกรมทางหลวงชนบท” นายชาติชายกล่าว

นายชาติชายกล่าวว่า ปัจจุบันถนนสายรองที่ประชาชนในชนบทใช้ในการสัญจรและขนส่งผลผลิตทางการเกษตรมีระยะทางกว่า 400,000 กิโลเมตร เป็นถนนของกรมทางหลวงชนบท ระยะทาง 47,916 กิโลเมตร และเป็นทางหลวงท้องถิ่น ระยะทาง 352,465 กิโลเมตร ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 7,853 แห่ง เป็นผู้กำกับดูแลในแต่ละพื้นที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งจากเหตุอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาทำให้ถนนชำรุดเสียหายหลายเส้นทาง ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ได้มีคำขอและข้อร้องเรียนให้ทำการซ่อมแซมและปรับปรุงถนนไปยังกระทรวงคมนาคมจำนวนมาก กรมทางหลวงชนบทได้ตรวจสอบแล้วมีหลายเส้นทางเป็นถนนที่กรมฯ ได้ถ่ายโอนให้แก่ อปท. และหลายเส้นทางเป็นถนนที่ อปท.เป็นผู้กำกับดูแลอยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขข้อร้องเรียนร้องทุกข์ในการขอให้ซ่อมบำรุงถนนเป็นไปอย่างถูกต้องรวดเร็ว จึงขอแนะนำวิธีการสังเกตข้อแตกต่างของทางหลวงชนบทและทางหลวงท้องถิ่น และช่องทางการร้องขอ ดังนี้

ถนนของทางหลวงชนบท โดยทั่วไปจะมีจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงแผ่นดิน ส่วนใหญ่มีความยาวมากกว่า 8 กิโลเมตร ผิวจราจรกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร เมื่ออยู่บนสายทางจะสังเกตเห็นป้ายโลโก้กรมทางหลวงชนบทเป็นแผ่นป้ายสีน้ำเงิน มีรูปพระวิษณุเห็นได้ชัดเจน ทุกสายทางจะมีรหัสสายทางเป็นพยัญชนะชื่อย่อจังหวัด 2 ตัว และหมายเลขสายทาง 4 ตัว เช่น นม.4008 หมายถึง ทางหลวงชนบทในจังหวัดนครราชสีมา หมายเลข 4008 ซึ่งหากพบเห็นถนนชำรุดขอให้แจ้งข้อมูลให้กรมฯ ทราบได้ที่สายด่วนทางหลวงชนบท โทร. 1146 เว็บไซต์กรมทางหลวงชนบท (www.drr.go.th) และสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดทั่วประเทศ

สำหรับทางหลวงท้องถิ่นซึ่งเป็นถนนส่วนใหญ่ที่กระจายในทุกหมู่บ้านและตำบลจะมีทั้งถนนที่ อปท.กำกับดูแลอยู่แล้ว และถนนที่กรมโยธาธิการ รพช. และกรมทางหลวงชนบทได้ถ่ายโอนให้ ซึ่งบางสายทาง อปท.ยังไม่ได้ปรับปรุงป้าย จะยังคงเห็นป้ายของกรมโยธาธิการ และ รพช.ปรากฏอยู่ และทางหลวงท้องถิ่นในบางสายทางจะมีป้ายชื่อหน่วยงาน อปท. เช่น อบจ. เทศบาล กำกับไว้ และบางเส้นทางจะเห็นป้ายรหัสสายทางเป็นพยัญชนะชื่อย่อจังหวัด 2 ตัว มี ถ. ต่อท้าย และหมายเลขสายทาง จำนวน 5 ตัว เช่น นม.ถ 1-0001 หมายถึง ทางหลวงท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งหากพบเห็นถนนชำรุดขอให้แจ้งข้อมูลให้ อปท.ในพื้นที่นั้นทราบและโดยทั่วไป อปท.จะใช้งบประมาณของ อปท.ในการซ่อมแซมและปรับปรุงถนนดังกล่าว และหาก อปท.มีงบประมาณไม่เพียงพอ อปท.ขอรับงบประมาณอุดหนุนไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อทำการซ่อมแซมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น