“จารุพงศ์” ยอมรับสนามบินสมุย 2 เกิดยาก เหตุลงทุนสูงโดยเฉพาะค่าเวนคืนสุดแพงแถมมีปัญหาสิ่งแวดล้อม หวั่นซ้ำรอยสนามบินร้าง สั่ง บพ.ศึกษาความเป็นไปได้สนามบินสมุยแห่งที่ 2 อีกครั้งเพื่อความชัดเจน หลังล่าสุดภาคเอกชนและท้องถิ่นเสนอทางเลือก คือ ดอนสัก ซึ่งอยู่บนฝั่งสุราษฎร์ฯ และบนเกาะสมุยที่หาดหน้าทอน ขณะที่ผลศึกษาเดิมยุติโครงการไปแล้ว
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมการบินพลเรือน (บพ.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินสมุยแห่งที่ 2 ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรมและเอกชนท้องถิ่นของจังหวัดสุราษฎร์ธานีเสนอไว้ 2-3 ทางเลือก คือ 1. ก่อสร้างบริเวณหาดหน้าทอน หน้าที่ว่าการอำเภอสมุย ซึ่งเป็นจุดที่ระดับน้ำทะเลไม่ลึกมากใช้การตอกเสาเข็มก่อสร้างโดยไม่ต้องถมทะเล และถูกกว่าการเวนคืน 2. ก่อสร้างบริเวณอำเภอดอนสัก 3. เกาะพะงัน ซึ่งนอกจากความคุ้มค่าการลงทุน และเป็นไปได้ด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว จะต้องเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียให้รอบด้านในการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีสนามบิน 2 แห่งด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการก่อสร้างสนามบินแต่ละแห่งใช้เงินลงทุนสูงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าดูแลซ่อมบำรุง และค่าบริหารจัดการอีกด้วย แต่มี 5-6 สนามบินที่ไม่มีการใช้งาน เช่น สนามบินหล่มสัก, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, นครราชสีมา, ชุมพร, ตาก และนราธิวาส ดังนั้น ก่อนตัดสินใจจะต้องพิจารณาความเหมาะสมและความคุ้มค่าให้รอบด้าน
“ได้รับรายงานจาก บพ.ว่า ก่อนหน้านี้มีการศึกษาสนามบินสมุย 2 แล้ว โดยพบปัญหาอุปสรรครวมถึงมีการคัดค้าน จึงมีการยุติเรื่องนี้ไปแล้ว แต่เมื่อผมมาเป็น รมว.คมนาคมได้มีผู้ประกอบการโรงแรมซึ่งเป็นกลุ่มเก่าที่เคยเรียกร้องให้ก่อสร้างสนามบินสมุย 2 เสนอมาอีก โดยบอกว่าค่าโดยสารของทางสายการบินบางกอกแอร์เวย์สแพง ทำให้ลูกค้าโรงแรมน้อยซึ่งผมจะรับฟังทุกข้อเสนอและทุกปัญหา แต่จะตัดสินใจอย่างไรนั้นจะต้องศึกษาให้ชัดเจนก่อนเพราะการที่รัฐจะลงทุนอะไรต้องดูที่ประเทศในภาพรวมได้รับประโยชน์สูงสุด” นายจารุพงศ์กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ข้อเสนอล่าสุดของท้องถิ่นและภาคเอกชนสุราษฎร์ฯ คือสร้างสนามบินที่ดอนสัก และมีแผนพัฒนาคอมเพล็กซ์ร่วมด้วย ซึ่ง รมว.คมนาคมเห็นว่าการก่อสร้างสนามบินลงทุนสูงและต้องมีการสำรวจศึกษาความเหมาะสมค่อนข้างนาน และต้องเสนอของบประมาณซึ่งกังวลว่าจะเกิดปัญหาก่อสร้างแล้วมีการใช้ไม่คุ้มค่ากับที่ลงทุนเหมือนสนามบินภูมิภาคของ บพ. แต่หากภาคเอกชนจะลงทุนเอง ในส่วนของกระทรวงและ บพ.พร้อมจะสนับสนุนในเรื่องการออกใบอนุญาตต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ทาง บพ.คาดว่าการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นสนามบินสมุย 2 จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งเบื้องต้นท้องถิ่นสนใจที่จะออกค่าศึกษา โดยประเด็นที่ต้องศึกษา เช่น ความเหมาะสมของระยะห่างระหว่างสนามบินสมุยกับสนามบินสุราษฎร์ฯ ประมาณ 65 กิโลเมตร, ปริมาณผู้โดยสาร, ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยก่อนหน้านี้ บพ.ได้จ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาความเหมาะสม และจ้างบริษัท เอ บี อี เอ็น เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสรุปรายงานผลกระทบต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสนามบินสมุย 2 ซึ่งมีมติไม่เห็นชอบและมีการยุติโครงการไปแล้วเมื่อปี 2553