xs
xsm
sm
md
lg

ภาคการผลิตกลับสู่ภาวะปกติแล้ว อุตฯ เร่งแผนลงทุนทำเขื่อนกันน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.อุตฯ เผยภาคการผลิตกลับสู่ภาวะปกติแล้ว โรงงานน้ำท่วมใน 7 นิคมฯ กลับมาเดินเครื่องได้กว่า 75% เร่งเดินหน้าลงทุนสร้างเขื่อนกั้นนิคมฯ พร้อมอัดมาตรการช่วยเหลือ หวังฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคการผลิตกลับสู่ภาวะปกติแล้ว โดยผลการฟื้นฟูเยียวยาโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งที่ประสบอุทกภัยใน จ.พระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี ขณะนี้โรงงานต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณไปในทางที่ดี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ขณะที่โรงงานกลับมาประกอบกิจการแล้ว 626 ราย คิดเป็นร้อยละ 75 ของโรงงานทั้งหมดที่มีอยู่ 839 ราย ส่วนโรงงานที่ตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมเปิดกิจการแล้ว 7,669 ราย คิดเป็นร้อยละ 97 ของสถานประกอบการทั้งหมด 7,893 ราย

ทั้งนี้ จากการสำรวจโรงงานอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยล่าสุดวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะเปิดดำเนินกิจการแล้ว 154 ราย คิดเป็นร้อยละ 72 นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) เปิดดำเนินกิจการแล้ว 101 ราย คิดเป็นร้อยละ 71 นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินเปิดดำเนินกิจการแล้ว 74 ราย คิดเป็นร้อยละ 82 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครเปิดดำเนินกิจการแล้ว 106 ราย คิดเป็นร้อยละ 71 สวนอุตสาหกรรมบางกะดีเปิดดำเนินกิจการแล้ว 24 ราย คิดเป็นร้อยละ 67 และเขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์เปิดดำเนินกิจการแล้ว 84 ราย คิดเป็นร้อยละ 100 และนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครเปิดดำเนินกิจการแล้ว 27 ราย คิดเป็นร้อยละ 59

“การเยียวยาภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยนั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบทุกสัปดาห์ ในการที่ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวและส่งสัญญาณในทางที่ดีทำให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลง โดยเฉพาะสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โน้ตบุ๊ก โทรทัศน์ กล้องถ่ายรูป ส่วนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ยังปิดอยู่ตอนนี้ก็มีแผนจะเปิดดำเนินงานไตรมาส 3 และ 4 รวมกว่า 76 ราย ซึ่งจะทำให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมกลับมาผลิตกว่าร้อยละ 90 เมื่อขึ้นไตรมาส 4 ของปี 2555”

รมว.อุตสาหกรรมกล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรมว่า ภาพรวมของทุกนิคมฯ มีการดำเนินงานคืบหน้าไปมากและจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคมซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก โดยจะนำเสนอ ครม.ในวันที่ 5 มิถุนายน 2555 นี้เพื่อขอความเห็นชอบให้สนับสนุนวงเงินก่อสร้างคันกั้นน้ำถาวร 2 ใน 3 ของการลงทุน วงเงินรวม 3,236 ล้านบาท คาดว่าภาคเอกชนจะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะเริ่มเบิกจ่ายได้อย่างเร็วช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2555 นี้

สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างเขื่อนในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะก่อสร้างเขื่อนยาวที่สุด 77.6 กม. ทุ่มงบกว่า 2,172 ล้านบาท มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อนคิดเป็นร้อยละ 29 นิคมอุตฯ บ้านหว้า (ไฮเทค) ก่อสร้างเขื่อนยาว 11 กม. ใช้งบก่อสร้าง 550 ล้านบาท มีความก้าวหน้าคิดเป็นร้อยละ 45

นิคมอุสาหกรรมบางปะอินก่อสร้างเขื่อนยาว 14 กม. ใช้งบก่อสร้าง 728 ล้านบาท มีความก้าวหน้าคิดเป็นร้อยละ 29 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครก่อสร้างเขื่อนยาว 18 กม. ใช้เงินประมาณ 1,102 ล้านบาท มีความก้าวหน้าคิดเป็นร้อยละ 29 สวนอุตสาหกรรมบางกะดีก่อสร้างเขื่อนยาว 5.9 กม. ใช้เงินประมาณ 583 ล้านบาท มีความก้าวหน้าคิดเป็นร้อยละ 42

ทางด้านนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครนั้นมีการปรับปรุงใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์ โดยจะปรับแบบให้ประหยัดลงจากแบบก่อสร้างเดิม มีความยาวประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 650 ล้านบาท โดยจะปรับรูปแบบให้เข้ากับราคากลางและสถานการณ์ให้มากที่สุด

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมแบ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นเจ้าภาพ มีมาตรการช่วยเหลือที่สำคัญเป็นที่พอใจของนักลงทุน เช่น การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อทดแทนเครื่องจักรเดิมที่เสียหายจำนวน 410 โครงการ มูลค่ากว่า 94,000 ล้านบาท การอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานเพื่อฟื้นฟูกิจการและซ่อมเครื่องจักร อนุมัติไปแล้ว 218 บริษัท จำนวนคนต่างชาติ 823 คน การเพิ่มสิทธิประโยชน์หรือยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย ทั้งกรณีทำการผลิตชั่วคราวหรือลงทุนใหม่ อนุมัติให้การส่งเสริมแล้ว 6 โครงการ เงินลงทุน 4,400 ล้านบาท

ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั่วไป ซึ่งไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญ คือ การให้การรับรองการเป็นผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการประสบอุทกภัย เพื่อสามารถนำเข้าเครื่องจักร ส่วนประกอบ และอุปกรณ์ ทดแทนที่ได้รับความเสียหาย จำนวนเครื่องจักรที่อนุมัติ 2,211 รายการ คิดเป็นมูลค่า 11,000 ล้านบาท การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีและค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่ผู้ประกอบการ ในเบื้องต้นมีผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิรวม 3,405 ราย คิดเป็นเงิน 113 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการสำรวจปัญหาอุปสรรคของผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องแรงงาน โดยบางแห่งขาดแคลนบุคลากร ด้านการเงิน และด้านการประกันภัย ซึ่งผู้ประกอบการได้ติดต่อธนาคารและบริษัทประกันภัยโดยตรง ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณา

สำหรับด้านเครื่องจักร กระทรวงฯ ได้รับรองสถานประกอบการเพื่ออนุมัติยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรทดแทนอุปกรณ์ที่เสียหาย ซึ่งผู้ประกอบการได้รับความช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว และถือว่าเป็นด้านที่มีความคืบหน้ามากที่สุด

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้จัดทำโครงการคลินิกอุตสาหกรรมเพื่อฟื้นฟูสถานประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้เข้าช่วยเหลือแล้ว 550 รายจากเป้าหมาย 1,000 ราย โครงการจัดตั้งศูนย์พักพิงอุตสาหกรรม มีผู้ประกอบการนำเครื่องจักร วัตถุดิบ หรือดำเนินการผลิตในพื้นที่ที่ได้จัดเช่าไว้ จำนวน 134 รายจากเป้าหมาย 100 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น