ฉะเชิงเทรา - พ่อเมืองแปดริ้วใช้ไม้แข็ง สั่งตำรวจลุยจับแกนนำม็อบต่อต้านโรงไฟฟ้าในคดีอาญา หลังศาลอนุมัติความผิดตามภาพถ่าย 7 แกนนำ ด้านแกนนำพร้อมเข้ามอบตัว เพื่อต่อสู้คดี พร้อมเตรียมแต่งตั้งแกนนำชุดใหม่ เพื่อชุมนุมต่อ
วันนี้ (15 มี.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย อัยการจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด พลังงานจังหวัด รองผบก.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา ผกก.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา และประชาสัมพันธ์จังหวัด ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณี ข้อข้องใจของชาวบ้านกลุ่มผู้ชุมนุมปิดถนนต่อต้านโรงไฟฟ้าคลองนครเนื่องเขต อ.เมืองฉะเชิงเทรา ในช่วงที่ผ่านมา
นายเริงศักดิ์ กล่าวชี้แจงถึงกรณีข้อข้องใจของชาวบ้านที่ว่า โรงไฟฟ้าได้เข้าไปใช้พื้นที่ของการอุตสาหกรรมอัลฟา เทคโนโพลิส ซึ่งล้มละลายตามคำพิพากษาศาลล้มละลายกลาง ไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วนั้น เขตประกอบการยังคงอยู่หรือไม่ ซึ่งผู้แทนกรมโรงงานฯได้ชี้แจงว่า ยังคงเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ ส่วนค่าธรรมเนียมรายปีนั้นผู้ประกอบการจะเริ่มชำระก็ต่อเมื่อมีการประกอบการแล้ว รวมทั้งสาธารณูปโภคผู้ประกอบการจะเป็นผู้ดำเนินการเอง จากการตรวจสอบโฉนดที่ดิน 68 ไร่ของโรงไฟฟ้าแล้ว ปรากฏว่า อยู่ในเขตประกอบการทั้งหมด
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับผังเมืองการก่อสร้างขัดต่อกฎหมายหรือไม่นั้น ทางสำนักโยธาธิการและผังเมือง ได้ชี้แจงว่าพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายผังเมืองประกาศบังคับใช้และยังอยู่ระหว่างการจัดทำผังเมือง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเท่านั้น
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการสูบน้ำของโรงไฟฟ้าที่ชาวบ้านหวั่นเกรงว่าจะกระทบต่อพื้นที่การเกษตรนั้น ตามข้อกำหนดในอีไอเอ ให้งดการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นเวลา 3 เดือนและให้โรงไฟฟ้าสำรองน้ำไว้เอง 3 แสน ลบ.ม.
ขณะที่ทางโครงการพระองค์ไชยานุชิตได้กำหนดให้โรงไฟฟ้างดใช้น้ำจากโครงการมากกว่าที่อีไอเอกำหนดไว้ถึง 4 เดือน ระหว่าง ม.ค.-เม.ย.ของทุกปี ซึ่งได้มีการคำนวณประมาณการในภาคเกษตรไว้แล้ว และหากเกษตรกรเดือดร้อนทางโครงการ สามารถสั่งให้ทางโรงไฟฟ้าหยุดสูบน้ำได้ในทันที โดยที่ทางโรงไฟฟ้าเองนั้นได้มีการเตรียมบ่อสำรองน้ำไว้มากกว่าที่อีไอเอกำหนดคือที่ 4 แสน ลบ.ม.
นายเริงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเอกสาร อีไอเอบกพร่อง ที่ระบุหน้าปกกับเนื้อหาภายในไม่ตรงกันนั้น รวมถึงชาวบ้านบางส่วนไม่ได้มีส่วนร่วมนั้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงว่าแม้หัวข้ออีไอเอระบุที่ตั้งไม่ตรงแต่จากการตรวจสอบเนื้อหาภายในพบว่า ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 2 ตำบล ที่ใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจริง คือ ต.วังตะเคียน และ ต.คลองนครเนื่องเขต
การวินิจฉัยว่า อีไอเอถูกต้องหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลปกครอง โดยการจัดทำอีไอเอขึ้นนั้น มีการดำเนินการอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง และหลักในการวิจัยทางวิชาการ
ดังนั้น อาจไม่คลอบคลุมประชากรทั้งหมด ซึ่งจะมีผลต่อความถูกต้องหรือไม่ศาลปกครองจะเป็นผู้วินิจฉัยในประเด็นการจัดตั้งคณะกรรมการการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อตรวจสอบการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้า ตามเงื่อนไขของอีไอเอนั้น ทางโรงไฟฟ้ายินยอมที่จะให้มีการแต่งตั้งจากภาคประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบในคณะกรรมการเพิ่มเติมได้
นายเริงศักดิ์ กล่าวว่า ในกรณีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ยุติหรือชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจนกว่าจะได้ข้อยุติของปัญหานั้น ทางจังหวัดได้มีหนังสือถึงสำนักนายกฯแล้ว แต่ขณะนี้ยังตรวจสอบไม่พบว่าอำนาจของจังหวัดและหน่วยงานราชการรวมถึงนายกรัฐมนตรี จะสามารถสั่งการให้ยุติ หรือชะลอการก่อสร้างได้ มีเพียงหน่วยงานเดียวที่มีอำนาจ คือ ศาลปกครอง
ส่วนผลการติดตามการพิจารณาของศาลปกครองนั้น การที่ศาลยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากประเด็นในเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ยื่นร้องไปยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถสั่งระงับการก่อสร้างชั่วคราวได้ แต่หากผู้ร้องมีประเด็นใหม่ก็ยังสามารถที่จะยื่นฟ้องเพิ่มเติมเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวได้อีก
นอกจากนี้ ความคืบหน้าในคดี ที่ ส.5-6/2554 นั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และอยู่ในขั้นตอนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำคัดค้านคำให้การของฝ่ายผู้ถูกฟ้อง และได้มีการยื่นขอขยายเวลาเพื่อยื่นคำคัดค้าน คำให้การแก้คำฟ้องเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างขยายระยะเวลาการยื่นคำคัดค้านเพิ่มเติม
นายเริงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ขบวนการต่างๆ ในการอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้น ได้ผ่านเลยอำนาจหน้าที่ของทางฝ่ายปกครองไปแล้ว ซึ่งทางจังหวัดจึงไม่สามารถดำเนินการสั่งการให้เป็นอย่างอื่นไปได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับหรืออาจถูกฝ่ายโรงไฟฟ้าฟ้องร้องกลับทางแพ่งได้ หลังจากมีการปิดถนนชุมนุมที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้ปฏิบัติต่อประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลมาโดยตลอด
แต่ถึงขณะนี้ ทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ได้ขออำนาจศาลอนุมัติหมายจับแกนนำรวม 7 คนในคดีอาญา ตามภาพถ่ายกรณีปิดถนนชุมนุมเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมาตาม พ.ร.บ.ทางหลวง แล้ว เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากการกระทำดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีโทษถึงขั้นจำคุก 3 ปีและปรับเป็นเงินจำนวนมาก และในกรณีคล้ายกันนี้ ที่ศาลจังหวัดเชียงรายได้เคยมีคำพิพากษาให้จำคุกผู้กระทำผิดโดยไม่รอลงอาญามาแล้ว
ส่วนบรรยากาศการชุมนุมที่บริเวณริมถนนสุวินทวงศ์ใกล้สามแยกสตาร์ไลท์ ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา มีผู้เข้ามาร่วมชุมนุมกว่า 200 คน โดยมีแกนนำ 3 คน สลับกันขึ้นกล่าวปราศรัย พร้อมเปิดเพลงขับกล่อมให้ผู้มาร่วมชุมนุมฟังและหลังจากแกนนำทราบว่าทางศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้อนุมัติหมายจับแล้วได้ประกาศที่จะเดินทางเข้ามามอบตัวยังที่ สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ พร้อมกับได้มีการแต่งตั้งแกนนำชุดใหม่เข้ามาร่วมเพิ่มเติมในการที่จะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อต่อไป พร้อมได้เตรียมที่จะเดินทางไปชุมนุมเคลื่อนไหวยังที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันอังคารนี้ด้วย