เอเอฟพี - ผู้ผลิตสารานุกรม “บริแทนนิกา” (Britannica) จะหยุดตีพิมพ์สารานุกรมเล่ม และเผยแพร่ผลงานเฉพาะในรูปแบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งนับเป็นจุดสิ้นสุดของสารานุกรมเล่มที่ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องมานานถึง 244 ปี บริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเมืองชิคาโกของสหรัฐฯเผย วานนี้(13)
“จุดจบของสารานุกรมเล่มเป็นสิ่งที่เราคาดหมายมาระยะหนึ่งแล้ว” จอร์จ โคซ ประธานสารานุกรมบริแทนนิกา ระบุในถ้อยแถลง
“นี่คือขั้นตอนล่าสุดที่เราจะเปลี่ยนตัวเองจากผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ มาเป็นผู้ผลิตสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้เช่นในปัจจุบัน”
หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ส เขียนบทสดุดีเนื่องในโอกาสสิ้นสุดยุคของสารานุกรมเล่มบริแทนนิกาไว้ว่า เป็นหนังสืออ้างอิงที่ได้รับความเชื่อถือ และเป็นที่ต้องการของเหล่าชนชั้นกลางในทศวรรษที่ 1950-1960 ที่มักยอมจ่ายเงินผ่อนเพื่อให้ได้ครอบครองสารานุกรมชุดใหญ่นี้
ยอดขายสารานุกรมเล่มพุ่งถึงจุดสูงสุดในปี 1990 โดยมียอดจำหน่ายในสหรัฐฯถึง 120,000 ชุด หลังจากนั้น จึงเสื่อมความนิยมลง เนื่องจากชาวอเมริกันหันมาใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งค้นข้อมูล โดยมีสารานุกรมออนไลน์อย่าง วิกิพีเดีย เป็นทางเลือกใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
นิวยอร์กไทม์ส ระบุว่า หนังสืออ้างอิงปกเดินตัวทองซึ่งเคยถูกนำไปเสนอขายตามบ้านนี้ กลายเป็นของหรูหราที่มีราคาขายถึงชุดละ 1,395 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 43,000 บาท) ทว่าสารานุกรมปี 2010 ที่พิมพ์ออกมา 12,000 ชุดกลับขายไปได้เพียง 8,000 ชุดเท่านั้น
บริแทนนิกา เปิดตัวสารานุกรมดิจิทัลเป็นครั้งแรกในปี 1981 โดยให้บริการสำหรับผู้ที่ใช้ฐานข้อมูล LexisNexis จากนั้นจึงผลิตซีดีมัลติมีเดียในปี 1989 และออกสารานุกรมออนไลน์ในปี 1994
สารานุกรมออนไลน์บริแทนนิกาให้บริการฟรีสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป และคิดค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงเนื้อหาเต็มรูปแบบ โดยปัจจุบันมีผู้เข้าใช้ราว 100 ล้านคนทั่วโลก