xs
xsm
sm
md
lg

“คอตตอนยูเอสเอ” สร้างแกร่งอาเซียน ดันซัปพลายเชนดึงบายเออร์คืนจากจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไกรภพ แพ่งสภา  ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย
“คอตตอนยูเอสเอ” เดินหน้าสานต่อ “ซัปพลายเชน” หวังสร้างศักยภาพแหล่งผลิตสิ่งทอจากฝ้ายในอาเซียนสู่ศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญรับมือเปิดเออีซี ตั้งเป้าเพิ่มอีก 5 รายในปีนี้จาก 4 ประเทศจากเดิมที่มี 37 โรงงานแล้ว ส่วนในไทยเปิดตัวกิจกรรม “คอตตอน ยูเอสเอ แบร์ แอมบาสซาเดอร์” พร้อมตั้งเป้าเพิ่มไลเซนซีในไทยอีก 3 รายปีนี้

นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้จะใช้งบประมาณ 21 ล้านบาทในการทำตลาดเชิงรุกเพื่อเป็นการขยายตลาดไลเซนซีของคอตตอนยูเอสเอมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมหลักๆ คือ การสานต่อโครงการคอตตอน ยูเอสเอ ซัปพลายเชน ซึ่งเริ่มจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2552 เพื่อเป็นการให้บายเออร์จากต่างประเทศได้มีโอกาสและช่องทางในการพบแหล่งผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคุณภาพสูงแบบครบวงจรมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่เริ่มแล้ว 4 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ปีนี้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการจัดกิจกรรมสู่ประเทศต่างๆ ในอาเซียนในฐานะผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคุณภาพที่ใช้ฝ้ายจากอเมริกาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต เพื่อพัฒนาภูมิภาคเอเชียให้เป็นศูนย์กลางผู้ผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มระดับโลกในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในสิ้นปีนี้โครงการคอตตอน ยูเอสเอ ซัปพลายเชน จะช่วยเพิ่มจำนวนไลเซนซีจากปัจจุบันที่มีอยู่ 37 รายในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มเป็น 50 รายทั่วภูมิภาคอาเซียน

โดยใน 4 ประเทศดังกล่าว แบ่งเป็นผู้ผลิตที่มาจากประเทศไทย 17 โรงงาน อินโดนีเซีย 13 โรงงาน เวียดนาม 6 โรงงาน และฟิลิปปินส์ 1 โรงงาน ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในประเทศไทยจะเพิ่มอีก 3 โรงงานที่เข้าระบบดังกล่าวนี้ แต่หากรวมทั้ง 4 ประเทศคาดว่าจะมีเพิ่มอีก 5 รายในปีนี้

“ก่อนหน้านี้บายเออร์ส่วนใหญ่จะมาซื้อที่อาเซียนเป็นหลัก แต่ว่าช่วงหลังได้หันไปซื้อที่จีนมากขึ้น ทำให้ออเดอร์ลดลงไปจำนวนหนึ่ง แต่จีนเองก็เป็นประเทศที่มีการบริโภคฝ้ายในการผลิตเครื่องนุ่งห่มมากที่สุดในโลก โดยนำเข้ามากที่สุดเช่นกันถึง 4.6 ล้านตันต่อปี และนำเข้าจากอเมริกามากที่สุด ขณะที่ในประเทศจีนเองก็เป็นผู้ผลิตและปลูกฝ้ายรายใหญ่มากที่สุดในโลกเช่นกันประมาณ 7.3 ล้านตันต่อปี ทำให้ความต้องการในประเทศมีอยู่สูงพอสมควร ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ทางบายเออร์ก็เริ่มที่จะหันกลับมาสั่งซื้อในอาเซียนเหมือนเดิมมากขึ้นแล้ว

โดยผู้ผลิตหรือผู้ปลูกฝ้ายรายใหญ่อันดับสองคือ อินเดีย ปลูกได้ถึง 5.7 ล้านตันต่อปี และอันดับสามคือ อเมริกา ปลูกได้ประมาณ 3.4 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า 4 ประเทศนี้จะไม่ได้เป็นผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่แต่ก็เป็นผู้บริโภคและผลิตเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่เช่นกัน โดยไทยปลูกเพียง 4 พันตันต่อปีเท่านั้นแต่มีความต้องการใช้มากถึง 280,000 ตันต่อปี โดยนำเข้าจากอเมริกามากที่สุดถึง 86,000 ตันหรือ 30% ของการนำเข้า แหล่งนำเข้าที่รองลงมาคือ ออสเตรเลีย และบราซิล เป็นต้น

อุตสาหกรรมการผลิตจากฝ้ายทั้งโลกเติบโตเฉลี่ย 1% เป็นฐานที่ใหญ่ มีมูลค่ามาก และยังเติบโตเรื่อยๆ ในอาเซียนเองก็ยังเติบโตเช่นกัน เราคงจะต้องหาบายเออร์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นที่เข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งโครงการซัปพลายเชนนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างมาก อีกทั้งการที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 นี้ก็จะยิ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถแข่งขันกับภาคการผลิตที่อื่นได้

นายไกรภพกล่าวต่อว่า กิจกรรมการตลาดอีกอย่างคือ การใช้งบประมาณ 13 ล้านบาทจัดกิจกรรม “คอตตอน ยูเอสเอ แบร์ แอมบาสซาเดอร์” เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคชาวไทยได้รู้จักและสัมผัสความเป็นฝ้ายธรรมชาติได้ โดยร่วมมือกับทางไลเซนซี 27 แบรนด์ในไทย เพื่อผลิตตุ๊กตาหมี 27 ดีไซน์เพื่อใช้ในการโปรโมตวางตามจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไลเซนซี 20 แบรนด์รวมกว่า 2,266 จุดทั่วไทย โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนไลเซนซีในไทยอีก 3 ราย ทั้งไลเซนซีจากแบรนด์เครื่องนุ่งห่ม และโรงงานสิ่งทอต่างๆ จากจำนวนไลเซนซีปัจจุบันของคอตตอนยูเอสเอประเทศไทยที่มี 47 ราย แบ่งเป็นแบรนด์เครื่องนุ่งห่ม 30 แบรนด์ และโรงงานสิ่งทอ 17 แห่ง และตั้งเป้าหมายติดป้ายสัญลักษณ์คอตตอน ยูเอสเอ ในปี 2555 ไว้ที่ประมาณ 7 ล้านชิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น