กรมทางหลวงเผย หม้อแปลงไฟฟ้าและสายไฟฟ้าถูกขโมยมากที่สุด ในรอบ 3 เดือนแรกของปีนี้อุปกรณ์งานทางถูกโจรกรรมแล้วเกือบ 4 ล้านบาท สาเหตุมาจากปัญหาค่าครองชีพสูง ทองแดงขายได้ราคา แม้มีมาตรการป้องกันและความผิดอาญาแต่ก็ยังหายต่อเนื่อง ชี้นอกจากเสียงบประมาณแล้วยังเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในการใช้เส้นทางด้วย
นายวันชัย ภาคลักษณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำนักอำนวยความปลอดภัยได้รวบรวมรายงานข้อมูลการโจรกรรมอุปกรณ์งานทางของกรมทางหลวง ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2555 (มกราคม-มีนาคม 2555) พบว่า บริเวณที่มีปัญหาการโจรกรรมซึ่งทรัพย์สินที่ถูกโจรกรรมมีมูลค่ารวม 3,165,274.75 บาท โดยพบว่าหม้อแปลงไฟฟ้าถูกโจรกรรมมากที่สุด มูลค่า 930,131.75 บาท หรือ 29.39% รองลงมาคือสายไฟฟ้า มูลค่ารวม 859,006 บาท ( 27.14%) และอุปกรณ์ราวกันอันตราย มูลค่ารวม 434710 บาท( 13.73%) โดยทั้งสายไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้ายังมีอัตราการโจรกรรมอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นเพราะปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบัน อีกทั้งทองแดงมีราคาสูงและปรับตัวขึ้นตลอดเวลา จึงเป็นเหตุจูงใจในการโจรกรรมดังกล่าว แม้ว่าจะมีความผิดอาญาที่ทั้งจำทั้งปรับก็ตาม
โดยพื้นที่ที่มีปัญหาการโจรกรรมอุปกรณ์งานทางที่มีมูลค่าความเสียหาย 3 ลำดับแรก คือ สำนักทางหลวงที่ 9 (ลพบุรี) มูลค่าความเสียหาย 986,981 บาท คิดเป็น 31.18% สำนักทางหลวงที่ 12 (ชลบุรี) มูลค่าความเสียหาย 486,500 บาท คิดเป็น 15.37% และสำนักทางหลวงที่ 11 (กรุงเทพฯ) มูลค่าความเสียหาย 479,786 บาท คิดเป็น 15.16% และพบว่าแขวงการทาง-สำนักงานบำรุงทางที่ได้รับผลกระทบจากการโจรกรรมและมีมูลค่าความเสียหายสูง ได้แก่ สำนักบำรุงทางชลบุรีที่ 2 มูลค่าความเสียหาย 486,500 บาท คิดเป็น 15.37% รองลงมาคือ แขวงการทางสมุทรสาคร มูลค่าความเสียหาย 445,786 บาท คิดเป็น 14.08% และแขวงการทางสระบุรี มูลค่าความเสียหาย 344,715 บาท คิดเป็น 10.89%
จากสถิติปัญหาโจรกรรมทรัพย์สินอุปกรณ์งานทางของกรมทางหลวง แม้จะมีอัตราการโจรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นไม่มาก และมีแนวโน้มลดลงหากเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะการใช้มาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาการโจรกรรมของกรมทางหลวง และจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงความร่วมมือในการช่วยกันสอดส่องดูแลของผู้ใช้ทางและประชาชนผู้อาศัยอยู่บริเวณสองข้างทางหลวง หากแต่สภาพเศรษฐกิจที่วิกฤตในปัจจุบันที่คาดว่าจะมีแนวโน้มวิกฤตอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นได้อีก ส่งผลให้ต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดซื้อ จัดหามาติดตั้งทดแทน อีกทั้งยังมีผลให้เกิดผลกระทบต่อความสะดวกปลอดภัยและเป็นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางได้
โดยขอความร่วมมือผู้ใช้ทางและประชาชนผู้อาศัยอยู่บริเวณสองข้างทางหลวงช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบเห็นผู้กระทำผิดหรือสงสัยว่าจะกระทำผิด สามารถโทร.แจ้งได้ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวง 0-2354-6530 สายด่วนกรมทางหลวง 1586 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง สายด่วนกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 0-2533-6111 สำนัก-สำนักงานทางหลวง แขวงการทาง หรือหมวดการทางในพื้นที่ หรือแจ้งได้ที่ตำรวจทางหลวง 1193 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง