ตำรวจทางหลวงเรียกประชุมผู้ประกอบการรถตู้ หลังเกิดอุบัติเหตุรุนแรงทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิตบ่อยครั้ง ยอดปีที่ผ่านมาพุ่งสูง 45 ครั้ง โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากคนขับ จึงวางมาตรการสร้างจิตสำนึกโชเฟอร์ตีนผี ตรวจสอบสมรรถภาพรถ แนะประสานงานตำรวจทางหลวงหากมีปัญหาขัดข้อง
วันนี้ (12 มี.ค.) เวลา 14.00 น. ที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง พล.ต.ต.นรบุญ แน่นหนา ผบก.ทล. พร้อมด้วย พ.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ พ.ต.อ.ทิวธวัช นครศรี รอง ผบก.ทล. นายประเทศ สังข์บุญลือ กรมการขนส่งทางบก และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้เชิญผู้ประกอบการหรือผู้ขับขี่รถตู้โดยสารสาธารณะในพื้นที่จังหวัดรอบปริมณฑล จำนวน 100 รายมาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดมาตรการในการแก้ไข ป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากรถตู้โดยสารสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยในการเดินทางสูงสุด
พล.ต.ต.นรบุญเปิดเผยก่อนการประชุมว่า ช่วงที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้นมีความรุนแรงและทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการรถตู้สาธารณะขึ้น ขณะนี้สวัสดิภาพของผู้โดยสารมีมากขึ้น ทั้งความสะดวกและความรวดเร็ว รวมถึงเรื่องต่างๆ แต่มีข้อด้อยตรงที่ไม่สามารถเลือกรถที่จะใช้สาธารณะและคนขับรถตู้ได้ จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ขับขี่ไม่ได้มาตรฐาน
พล.ต.ต.นรบุญกล่าวอีกว่า กฎหมายที่ผ่านมาทั้งการตั้งด่านจับและการใช้กล้องตรวจจับความเร็วนั้น ไม่สามารถทำให้ผู้กระทำผิดลดลง ด้านกรมทางหลวงจึงได้นำเครื่องมืออาร์เอฟไอดี ซึ่งเป็นสนามแม่เหล็กที่ระบุตัวข้อมูลด้วยคลื่นวิทยุ โดยจะมีการติดตั้งเฉพาะทางหลวงพิเศษ หากนำไปติดตั้งแล้วสามารถดำเนินการจับผู้กระทำผิดได้ ซึ่งครั้งแรกจะโดนปรับ 5,000 บาท และถ้ามีการกระทำผิดซ้ำาสองจะถูกปรับ 10,000 บาท พร้อมอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ตามพ.ร.บ.ขนส่ง
พล.ต.ต.นรบุญกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการหลักที่ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการหรือผู้ขับขี่ ให้ช่วยกันยึดถือปฏิบัติ 1. ให้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับในการเดินรถอย่างเคร่งครัด 2. ให้ผู้ขับขี่มีจิตสำนึกในการขับขี่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร 3. ให้มีความพร้อมของยานพาหนะ โดยมีการตรวจสอบสภาพและอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ 4. หากมีปัญหา ข้อขัดข้อง และข้อเสนอให้ประสานกับตำรวจทางหลวงได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุที่เกิดจากรถตู้โดยสารสาธารณะทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งสถิติช่วงปี 2554 ถึงเดือน ก.พ. 2555 เกิดขึ้น 45 ครั้ง มีสาเหตุจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ 41 ราย เป็นการขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด 11 ราย, ตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด 9 ราย นอกนั้นเกิดจากการขับขี่รถโดยประมาท