นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าการย้ายสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) มาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่า ขณะนี้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.อยู่ระหว่างการเจรจากับสายการบินต่างๆ ซึ่งพล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด ) ยืนยันว่าจะมีประมาณ 10 สายการบินที่จะย้ายมาด้วยความสมัครใจ โดยจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ ส่วนกรณีไทยแอร์เอเชียจะย้ายมาหรือไม่และย้ายเมื่อไรนั้นยังพูดอะไรตอนนี้ไม่ได้ เพราะไทยแอร์เอเชียเกรงว่าการย้ายสนามบินอาจมีผลต่อธุรกิจและราคาหุ้นได้ จึงอยากให้ผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทไปก่อน โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนหลังเดือนส.ค.นี้
แหล่งข่าวจากทอท.กล่าวว่า กรณีไทยแอร์เอเชียนอกจากเจรจาลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อจูงใจแล้ว ก่อนหน้านี้ไทยแอร์เอเชียได้เสนอขอพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อกิจกรรมเชิงพาณิชย์นอกเหนือจากกิจการการบินด้วย ซึ่งทอท.จะต้องพิจารณาข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ โดยปัจจุบันทอท.เป็นผู้บริหารพื้นที่ภายในอาคารเองโดยให้ผู้ค้ารายย่อยทำสัญญาเช่าโดยตรงกับทอท.
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้แอร์เอเชียประสบปัญหาการให้บริการที่สุวรรณภูมิและจำเป็นต้องหาทางออกเช่น ย้ายมาให้บริการที่ดอนเมืองแทน เนื่องจากจะมีพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารได้สะดวกกว่า ซึ่งปัญหาความแออัดที่สุวรรณภูมิไม่ได้อยู่ที่อาคารผู้โดยสารหรือจุดตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แต่เป็นเรื่องความหนาแน่นของเที่ยวบิน และหลุดจอดเครื่องบินไม่เพียงพอ โดยช่วงน้ำท่วมท่าอากาศยานดอนเมืองยิ่งมีปัญหามาก เช่น นกแอร์ต้องนำเครื่องไปจอดที่อู่ตะเภาและบินเครื่องเปล่ามาสุวรรณภูมิเพื่อรับผู้โดยสารทุกเช้า ทำให้สายการบินมีต้นทุนเพิ่มโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชียได้ใช้ท่าอากาศยานเชียงใหม่และภูเก็ตเป็นฮับเพิ่มแล้วแต่ทั้ง 2 แห่งเริ่มมีปัญหาแออัดเช่นกัน ในขณะที่การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 จะต้องใช้เวลา 5-6 ปี หากยังคงให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อแผนขยายฝูงบินของแอร์เอเชีย ที่จะมีเครื่องบินเพิ่มสิ้นปีนี้เป็น 22 ลำ และใน 5 ปี ข้างหน้าเพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 50 ลำได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเจรจาเพื่อให้ส่วนลดค่าบริการต่างๆ แก่สายการบินที่จะมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ทุกสายการบินจะได้รับเท่าเทียมกัน ทั้งค่าเช่าพื้นที่ ค่าธรรมเนียมทางการบิน ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอรายละเอียดต่อที่ประชุมบอร์ดทอท.วันที่ 17 พ.ค.นี้ จากนั้นจึงจะทราบชัดเจนว่ามีสายการบินใดบ้างที่จะย้ายมาดอนเมือง โดยเฉลี่ยสายการบินมีค่าใช้จ่ายลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับการให้บริการที่สุวรรณภูมิ
อย่างไรก็ตาม นโยบายต้องการให้สายการบินต้นทุนต่ำและเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ไม่มีการต่อเครื่อง (Point to Point) มาให้บริการที่ดอนเมืองแบบสมัครใจซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสายการบินใดตกลง เนื่องจากต้องการรอมาตรการจูงใจที่ชัดเจนจากทอท.ก่อน ในขณะที่ทอท.ได้เร่งปรับปรุงพื้นที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคาร 1) และสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี ให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.นี้ โดยคาดว่าไทยแอร์เอเชียจะมีผู้โดยสารประมาณ 8.5 ล้านคนต่อปี ส่วนนกแอร์มี 4 ล้านคนต่อปี โดยสายการบินจะได้รับจัดสรรพื้นที่ภายในอาคารสำหรับให้บริการเคาน์เตอร์เช็คอิน,จำหน่ายตั๋ว,สำนักงานในสัดส่วนที่สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารของแต่ละสายการบิน
ว่าที่เรืออากาศโท อนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการปรับการบริหารจัดการหลุมจอดของอาคารเทียบเครื่องบิน A และ B (Concourse A-B) ซึ่งปกติให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ (Domestic Flight) สลับมาใช้ให้บริการเที่ยวบินขาออกระหว่างประเทศ (International Flight) ในช่วงระหว่างเวลาชั่วโมงคับคั่งระหว่างเวลา 23.00 - 01.30 น.ของวันถัดไป หรือการ Swing Gate ซึ่งทำให้มีหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศในช่วงเวลาคับคั่งดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 4-5 หลุมจอด ซึ่งจะทำให้ทั้งสายการบินและผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีความแออัดโดยมีสายการบินเฉลี่ย 790 เที่ยวบินต่อวัน มีผู้โดยสารมาใช้บริการเฉลี่ย 130,000 คนต่อวันหรือ 51 ล้านคนต่อปีในขณะที่รองรับได้เพียง 45 ล้านคนต่อปี