ตลาดข้าวถุงหืดขึ้นคอหลังแอ่นรับต้นทุนพุ่ง 10% เหตุภาครัฐไม่อนุญาติให้ปรับราคา ดิ้นเอาตัวรอดมุ่งลดต้นทุน หันใช้กลยุทธ์โปรโมชัน “หงษ์ทอง” ทุ่ม 30 ล้านบาทลุยรีแบรนดิ้ง พร้อมเพิ่มอีก 3 แบรนด์ดันเติบโต 20% ในสิ้นปีจาก 1,700 ล้านบาทในปีก่อน พร้อมเบียดแชร์สู่ 20% ใน 3 ปี
นางโสพรรณ มานะปัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้ง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวถุงแบรนด์ “หงษ์ทอง” เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ตลาดข้าวถุงมูลค่า 20,000 ล้านบาทกำลังถูกกดดันทั้งทางบนและทางล่างโดยไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ กล่าวคือ ในทางบน ถึงแม้ภาครัฐจะมีนโยบายปรับราคาจำนำข้าวให้มีราคาสูงขึ้นแล้วก็ตาม จากเดิมที่สัญญาว่าจะให้เราสามารถปรับราคาข้าวถุงขึ้นได้ 10 บาท ตอนนี้กลับยังไม่มีสัญญาณว่าจะให้ปรับราคาขึ้นแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันในทางล่าง ในแง่ของต้นทุนต่างๆ ก็ปรับขึ้นต่อเนื่อง รวมแล้วขณะนี้ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 10% ทั้งต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น 2-3% แรงงานเพิ่มขึ้น 2-3% รวมถึงการแข่งขันในตลาด ที่มองว่าจากจำนวนข้าวถุงแบรนด์ที่มีกว่า 100 ราย จะหันมาทำการตลาดมากขึ้น มุ่งใช้เรื่องของโปรโมชันเพื่อเกิดการขายได้สูงขึ้น รวมถึงผู้เล่นในตลาดส่งออกที่จะหันมาสร้างแบรนด์ในประเทศมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์หลังแนวโน้มการส่งออกไม่ดี โดยมองว่าเรายังสามารถแบกรับต้นทุนดังกล่าวได้ไปจนถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น
ทั้งนี้ จากการแข่งขันที่มีมากขึ้น ภาพรวมตลาดน่าจะเติบโตในอัตรา 5-10% เช่นปีที่ผ่านมา เพียงแต่กลุ่มข้าวถุงอาจจะเข้าไปแย่งแชร์ในส่วนของข้าวตักจากกระสอบแบ่งขายมากขึ้น แต่การบริโภคข้าวของคนไทยยังคงที่ จากปัจจุบันคนไทยรับประทานข้าวสูงสุดในเอเชีย เฉลี่ย 145 กก.ต่อคนต่อปี รองลงมาคือ อินเดีย 135 กก.ต่อคนต่อปี และอันดับสาม คือ จีน 104 กก.ต่อคนต่อปี ขณะที่สัดส่วนการบริโภคข้าวของไทยนั้น ยังแบ่งออกเป็น ข้าวหอมมะลิแท้ 41% ข้าวขาว 41% ข้าวหอมผสม 10% และข้าวกลุ่มอื่นๆ อีก8-10%
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้มีการแก้ไขและรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมุ่งลดต้นทุนในส่วนการผลิตให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงเน้นทำการตลาดให้มีประสิทธิภาพ และมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ล่าสุดปีนี้พร้อมใช้งบลงทุนกว่า 30 ล้านบาทสำหรับทำการตลาดตลอดปี ที่สำคัญในปีนี้ยังได้ทำการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 3 ปี พร้อมสร้างแบรนด์เพิ่มอีก 3 แบรนด์ รวมแล้วมี 4 แบรนด์เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มข้าวถุงในปัจจุบัน
สำหรับกลยุทธ์การรีแบรนด์ครอบครัวหงษ์ให้ตรงกับข้าวทั้ง 4 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มข้าวหอมมะลิ 100% จะใช้แบรนด์เดิมคือ ตราหงษ์ทอง 2. กลุ่มข้าวหอมผสม ใช้แบรนด์ใหม่คือ ตราหงษ์ทิพย์ 3. กลุ่มข้าวขาว ใช้แบรนด์ใหม่คือ ตราหงษ์ไทย และ 4. กลุ่มข้าวสุขภาพ ใช้แบรนด์ใหม่คือ ตราหงษ์ไลฟ์ มั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มแชร์ในแต่ละเซกเมนต์ให้ดียิ่งขึ้น จากเดิมกลุ่มข้าวหอมมะลิแท้ หงษ์ทอง เป็นผู้นำด้วยมาร์เกตแชร์ 23% ส่วนกลุ่มข้าวหอมผสมมีแชร์ 3% กลุ่มข้าวขาวมีแชร์ 2% และกลุ่มข้าวเพื่อสุขภาพมีแชร์ 11% หรือภายในสิ้นปีนี้รายได้รวมจะเติบโตได้อีก 20% จาก 1,700 ล้านบาทในปีก่อนที่เติบโต 16% หรือภายใน 3 ปีมั่นใจว่าจะเพิ่มแชร์ในตลาดเป็น 20% ได้ จากปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 10%