xs
xsm
sm
md
lg

“ลูกจ้าง” ส่วนใหญ่ปลื้มค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายโดนใจ-ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพล ม.กรุงเทพเผยผลสำรวจ “ลูกจ้าง” ส่วนใหญ่เกือบ 80% มองการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตรงใจส่งผลให้ชีวิตดีขึ้น แนะรัฐดูแลเรื่องสวัสดิการเพิ่ม ไม่เชื่อผลกระทบทำกิจการเจ๊ง แต่มองว่าอาจทำให้กำไรลดลงบ้าง

กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” พบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 79.1 ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันแล้ว ขณะที่ร้อยละ 20.9 ยังไม่ได้รับ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ากิจการยังไม่อนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างให้

เมื่อสอบถามผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท รูปแบบชีวิตการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 82.4 ระบุว่ามีชีวิตการทำงานเหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 15.4 ระบุว่าต้องทำงานหนักขึ้น มีเพียงร้อยละ 1.3 ที่ระบุว่าทำงานน้อยลง

ทั้งนี้ ผู้ใช้แรงงานเกือบครึ่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 49.9 ไม่เชื่อว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะทำให้กิจการที่ทำงานอยู่ต้องประสบกับภาวะขาดทุนหรือเลิกกิจการ ตรงกันข้ามร้อยละ 23.0 เชื่อว่าจะทำให้กิจการมีกำไรเพิ่มขึ้น และร้อยละ 26.9 เห็นว่าจะกระทบทำให้กำไรลดลงเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 1.4 เห็นว่าขาดทุน และร้อยละ 0.8 เห็นว่าจะเลิกกิจการ

สำหรับความเห็นต่อค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่รัฐบาลปรับขึ้น จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3 เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไม่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 36.5 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะยังเหมือนเดิม และร้อยละ 2.8 เห็นว่าจะแย่ลง

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ราคาสินค้าที่เพิ่มทำให้แรงงานไม่ได้ประโยชน์จากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนร้อยละ 60.7 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น เมื่อถามต่อว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้หรือไม่ ร้อยละ 54.9 เห็นว่าจะไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ร้อยละ 45.1 เห็นว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ร้อยละ 93.2 ระบุว่าเห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 6.8 ระบุว่าไม่เห็นด้วย และเมื่อถามต่อว่ากังวลมากน้อยเพียงใดเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่อาจจะเข้ามาแย่งงานคนไทย ร้อยละ 51.4 ระบุว่าไม่กังวลเลย ขณะที่ร้อยละ 31.1 ระบุว่ากังวลมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 17.5 ระบุว่ากังวลน้อยถึงน้อยที่สุด

ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล ปรับปรุงแก้ไขมากที่สุดเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน พบว่าอันดับแรก คือ สวัสดิการ ร้อยละ 32.3 รองลงมาคือ ดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ร้อยละ 29.7 และดูแลคุณภาพชีวิต ร้อยละ 14.9

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 1,180 คน ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล 23-26 เมษายน 2555
กำลังโหลดความคิดเห็น