xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ถลุงงบที่ปรึกษา 6 ปี 1.2 หมื่น ลบ. แต่ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คมนาคม” เพิ่งตื่น เร่งแก้หลักเกณฑ์จ้างบริษัทที่ปรึกษา หลังพบหลายหน่วยจ้างซ้ำซ้อน ถลุงงบ 6 ปีกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทแต่ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพิ่มเงื่อนไขต้องร่วมรับผิดชอบโครงการหากมีปัญหาหลังหมดสัญญา

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำฐานข้อมูลบริษัทที่ปรึกษาที่เข้ารับงานโครงการต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หลังจากพิจารณาแล้วเห็นว่าตั้งแต่ปี 2549-2554 กระทรวงคมนาคมใช้งบประมาณในการว่าจ้างที่ปรึกษาถึง 12,052 ล้านบาท รวม 635 โครงการ มีที่ปรึกษาจำนวน 206 ราย

ซึ่งพบว่าการดำเนินงานหลายโครงการมีปัญหาล่าช้า กำหนดกรอบวงเงินสูงเกินไป และที่ปรึกษาไม่ได้ร่วมรับผิดชอบปัญหาของโครงการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยให้เวลาดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมใน 2 เดือน

“ปัญหาคือ หน่วยงานเสพติดบริษัทที่ปรึกษา จะทำโครงการอะไรก็ต้องมีที่ปรึกษา แม้บางโครงการจะสามารถทำได้เองก็ตาม จ้างอย่างเดียวจนบุคลากรขาดความรู้ และยังไม่มีการคุยกันทำให้มีบริษัทที่ปรึกษาซ้ำซ้อนกัน บางบริษัทใช้บุคลากรคนเดียวกันหลายโครงการ ดังนั้น สนข.จะต้องกำหนดรายละเอียดข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาที่เข้ารับงานแต่ละโครงการให้ชัดเจนทั้งในเรื่องของจำนวนบุคลากรหลัก และบุคลากรเสริมว่ามีใครบ้าง ชื่ออะไร เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดอื่นสามารถขอข้อมูลไปตรวจสอบในการจัดหาบริษัทที่ปรึกษาเพื่อเข้าดำเนินโครงการของตังเองได้

หากพบว่าบริษัทที่ปรึกษาที่เสนอตัวเข้าไปซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ ก็ให้ไปหาบริษัทที่ปรึกษารายอื่นเพื่อให้มีเวลาทำงานได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อกำหนดเป็นระเบียบที่ชัดเจนเพื่อใช้ประเมินผลการทำงานของที่ปรึกษาในอนาคต”

ที่ผ่านมาไม่มีการติดตามผลการดำเนินงาน บริษัทที่ปรึกษาศึกษาออกแบบเสร็จแล้วก็ถือว่าจบ แต่ต่อไปบริษัทที่ปรึกษาต้องรับผิดชอบหากโครงการเกิดความล่าช้า หรือมีความผิดพลาดในการดำเนินโครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) กำหนดราคาไว้ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท แต่ผลประมูลออกมาได้ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ส่วนต่าง 3,000 ล้านบาทมาจากไหน แสดงว่าข้อมูลบริษัทที่ปรึกษาไม่ดีพอ ซึ่งต่อไปที่ปรึกษาจะต้องใส่ใจราคากลางให้มากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นจะพิจารณาจัดคุณภาพในส่วนของผู้รับเหมาในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะการประเมินผลงานหลังก่อสร้างเสร็จแล้วเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสร้างเสร็จแค่ 1 ปีแล้วถนนพังแต่ไม่มีใครรับผิดชอบ ซึ่งงานที่ประมูลโดยวิธี e-Auction จะมีปัญหามาเพราะดูราคาเป็นหลักไม่เน้นคุณภาพ ซึ่งการคอร์รัปชันเกิดจากส่วนต่างของคุณภาพ และราคา
กำลังโหลดความคิดเห็น